กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เผยผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 844,219 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 221 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 202 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 16 ข้อความ และผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 3 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 167 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 151 เรื่อง
อันดับที่ 1 : เรื่อง รัฐบาลเปิดเพจทางรัฐใหม่ ชื่อว่า ทางรัฐ – เงินดิจิทัล
อันดับที่ 2 : เรื่อง ออมสินให้ยืมก่อน จ่ายคืนทีหลัง ระยะเวลากู้สูงสุด 36 เดือน ผ่านเพจ KLT BNG 31642
อันดับที่ 3 : เรื่อง คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก
อันดับที่ 4 : เรื่อง ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมว ทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด
อันดับที่ 5 : เรื่อง เวลาเข้านอนบ่งบอกสุขภาพในอนาคต
อันดับที่ 6 : เรื่อง โฆษณาผลิตภัณฑ์ YesCare เป็นต้อหินมาหลายปี กินแล้วดีขึ้นเรื่อย ๆ
อันดับที่ 7 : เรื่อง การบินไทยรับสมัครงาน รายได้ 20,000 บาท ผ่านเพจ Thai Alrways
อันดับที่ 8 : เรื่อง ธอส. มอบรัก ช่วยปิดหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้บัตรเครดิต ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์
อันดับที่ 9 : เรื่อง หากผู้อื่นรู้เบอร์โทรศัพท์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์ ทำให้รู้ยอดเงินในธนาคารได้
อันดับที่ 10 : เรื่อง ปัสสาวะกลางคืนแล้วไม่ดื่มน้ำทดแทน ทำให้เกิดภาวะการอุดตันของหัวใจและสมอง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดดีอี ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า ข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้น ๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอันดับ 1 ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาล เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเป็นการสร้างข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือน กรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลว่า” รัฐบาลเปิดเพจทางรัฐใหม่ ชื่อว่า ทางรัฐ – เงินดิจิทัล”
กระทรวง ดีอี ขอชี้แจงว่า เพจดังกล่าวเป็นเพจปลอมที่มิจฉาชีพแอบอ้างใช้โลโก้และชื่อโครงการของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเพจดังกล่าวทั้งสิ้น จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือพิมพ์เป็นภาษาไทยว่า www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย หรือสามารถสอบถามผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. 1111 ซึ่งหากหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งในส่วนตัวบุคคล หรือหากมีการแชร์ เผยแพร่ ต่อๆกันไป อาจกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้างได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 67)
Tags: ข่าวปลอม, มิจฉาชีพ, เตือนภัย, เวทางค์ พ่วงทรัพย์