น.พ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจและบางจังหวัดในการหารูปแบบการกักตัวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น โดยจัดระบบการกักกันพร้อมท่องเที่ยวในระดับพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นมากกว่าการกักกันเพียงแต่ในห้องพัก เช่น ระดับตำบล เกาะ อำเภอ หรือทั้งจังหวัด ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่สนใจ เช่น ชลบุรี บุรีรัมย์ ระยอง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มจากจังหวัดที่มีศักยภาพ คือ มีโรงพยาบาลที่พร้อมดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ห้องแยกโรคความดันลบ มีระบบห้องปฏิบัติการ ทีมสอบสวนโรคที่เข้มแข็ง มี อสม.ในพื้นที่ เป็นต้น
โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายจะคัดเลือกจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่มีการติดเชื้อนาน 3 เดือน โดยอาจพิจารณาในเชิงพื้นที่ด้วย เช่น จีน บางมณฑลมีจำนวนประชากรกว่า 100 ล้านคน แต่ไม่มีการติดเชื้อมานานกว่า 180 วัน เป็นต้น มีระบบการจัดการโควิด- 19 ดี และทำ MOU ตกลงร่วมกัน ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาต้องมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ทำการกักตัวเองที่บ้านหรือ Home Quarantine 14 วันก่อนเดินทาง และดำเนินการผ่านบริษัททัวร์ โดยเลือกจากคนต่างชาติที่มีกำลังซื้อ กลุ่มพำนักระยะยาว และกลุ่มทำงาน
สำหรับการเตรียมความพร้อมที่จะดำเนินการกักกันพร้อมท่องเที่ยวระดับพื้นที่ จังหวัดต้องทำเส้นทางที่จะเปิดให้ไปท่องเที่ยวอย่างจำกัด ไม่ปะปนกับประชาชน เช่น แต่ละวันจะไปพื้นที่ท่องเที่ยวตรงไหนของจังหวัด โดยทำเป็นแพ็คเกจให้กับทางบริษัททัวร์ นอกจากนี้ ต้องสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจและมั่นใจในการดำเนินการ โดยมอบหมายให้กองสุขภาพระหว่างประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานจังหวัดที่สนใจในการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จนกว่าจังหวัดมีความพร้อมและประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจและยอมรับ
รวมถึงต้องมีสายการบินตรง จัดทำแพ็คเกจท่องเที่ยว เน้นเศรษฐกิจในชุมชน มีบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพปลอดโรคโควิด-19 เช่น กิจการนวด/สปา บริการ Magnet การจัดผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารสุขภาพต้านไวรัส ขณะที่โรงแรมที่พักจะเป็นโรงแรมที่ผ่านมาตรฐาน SHA หรือ Well Hotel และ มีอุปกรณ์ติดตามนักท่องเที่ยว เบื้องต้นได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีในหลักการ ซึ่งการท่องเที่ยวรูปแบบนี้เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสามารถเพิ่มขยายพื้นที่ แต่ยังยึดหลักความปลอดภัยของประชาชนในประเทศ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า การรับชาวต่างชาติเข้ามาทั้งหมดจะต้องเข้ารับการกักกันเพื่อเฝ้าระวังอาการในสถานกักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine) จำนวน 14 วัน ปัจจุบันมีจำนวน 84 แห่ง มีห้องรองรับจำนวน 13,009 ห้อง แบ่งเป็น Alternative State Quarantine จำนวน 11,681 ห้อง และ Alternative Local State Quarantine จำนวน 1,328 ห้อง
ส่วนการเปิดให้ผู้ป่วยชาวต่างชาติโรคอื่นและผู้ติดตามเข้ามารักษาในประเทศไทย มีโรงพยาบาลกักกันทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) รองรับ แบ่งเป็น โรงพยาบาล 118 แห่ง และคลินิก 36 แห่ง มีห้องรองรับจำนวน 2,709 ห้อง แบ่งเป็น Isolation Room จำนวน 2,299 ห้อง AIIR-ICU จำนวน 82 ห้อง Modified AIIR จำนวน 65 ห้อง และ Cohort Ward จำนวน 263 ห้อง โดยต้องกักตัวขณะรักษาไม่น้อยกว่า 14 วัน มีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 จำนวน 3 ครั้ง
ขณะนี้เปิดรับผู้ป่วยและผู้ติดตามทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ มีผู้ป่วยโรคอื่น ๆ เดินทางเข้ามารับการรักษาแล้ว 1,000 กว่าราย สร้างเศรษฐกิจได้ประมาณ 200 กว่าล้านบาท โดยเมื่อกักตัวครบ 14 วันแล้ว วันที่ 15 สามารถออกไปท่องเที่ยวได้ โดยมีระบบรายงานและติดตามตัว ขณะที่สถานกักกันในกิจการเพื่อสุขภาพ (Wellness Quarantine) จะดำเนินการในกิจการสปาทางการแพทย์ (Medical Spa) หรือรีสอร์ทสำหรับผู้สูงอายุ โดยอยู่ระหว่างการจัดทำประกาศและหลักเกณฑ์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 63)
Tags: COVID-19, ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์, สถานที่กักตัวทางเลือก, โควิด-19