กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 25-28 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 6,068,513 บาท ประกอบด้วย
คดีที่ 1 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 4,325,985บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งว่าจะทำการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าให้ใหม่และให้รับเงินค่าประกันคืน ให้เพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นส่งลิงก์ให้ดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชัน โดยทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่จนเสร็จขั้นตอน ต่อมาภายหลัง ผู้เสียหายเช็คยอดเงินบัญชีของตน พบว่าได้มีการถูกโอนออกไป ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 หลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 40,157 บาท โดยผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาสินเชื่อเงินสด ผ่านทาง Facebook ชื่อเพจ Smart Lone จึงสนใจทักไปสอบถาม จากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line ส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อยื่นสินเชื่อ จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งว่าได้อนุมัติสินเชื่อแล้ว แต่ต้องโอนเงินเพื่อเป็นการประกันสินเชื่อ ผู้เสียหายจึงโอนเงินไป มิจฉาชีพแจ้งภายหลังว่า ผู้เสียหายโอนผิดบัญชีไม่ได้รับเงินค่าประกัน จึงโอนไปอีกครั้งแต่ก็ยังไม่ได้เงินกู้ ต่อมาภายหลังผู้เสียหายทราบว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 หลอกลวงให้ทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 810,000 บาท ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพชักชวนหารายได้พิเศษอ้างผลตอบแทนดี ผ่านช่องทาง Line เป็นงานกดออเดอร์สินค้าในระบบ และจะได้รับค่าคอมมิชชัน จากนั้นส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลสมัคร สมาชิกและชำระค่าสมาชิกแล้วดึงเข้า Group Line มีตัวแทนบริษัทคอยแนะนำ ให้โอนเงิน ลงทุนเข้าไปในระบบครั้งแรกก่อน ในระยะแรกได้ผลตอบแทนจริง เพราะโอนเงินลงทุนยังไม่มาก ต่อมาภายหลังให้โอนเงินลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ อ้างทำภารกิจไม่สำเร็จ ต้องเสียค่าปรับทางบริษัทและชำระค่าภาษี ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 402,371 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายรู้จักมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook อ้างเป็นเพจปลอม “เอ จักรพรรดิ มั่งคั่ง” โฆษณาชวนเชื่อร่วมทำบุญ 1,000 บาท ได้พระ 1 องค์(หลวงปู่ศิลา) และลุ้นรางวัลสร้อยคอทองทำหนัก 5 บาท และรถยนต์ ผู้เสียหายสนใจจึงร่วมทำบุญ 1,000 บาท มิจฉาชีพแจ้งว่า เป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ให้ผู้เสียหายชำระค่าภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ภายหลังผู้เสียหายทราบว่าเป็นเพจปลอม ถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 5 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 490,000 บาท ผู้เสียหายได้สั่งซื้อสินค้าประเภทรถยนต์มือสอง ผ่านทาง Facebook โดยได้ตกลงซื้อขายและโอนเงินชำระเรียบร้อย ต่อมาภายหลังมิจฉาชีพแจ้งว่าขอให้โอนค่าขนส่งเพิ่ม ผู้เสียหายแจ้งกลับทางเพจไปว่าขอชำระค่าขนส่งปลายทางเมื่อได้รับรถยนต์ มิจฉาชีพอ้างว่าไม่ได้ ต้องโอนเงินเลย จากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.66 – 26 ก.ค.67 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 879,315 สาย เฉลี่ยต่อวัน 3,269 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 247,769 บัญชี เฉลี่ยต่อวัน 1,091 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 73,889 บัญชี คิดเป็น 29.82% (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 59,321 บัญชี คิดเป็น 23.94% (3) หลอกลวงลงทุน 41,932 บัญชี คิดเป็น 16.92% (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 19,042 บัญชี คิดเป็น 7.69% (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 18,307 บัญชี คิดเป็น 7.39% และคดีอื่นๆ 35,278 บัญชี คิดเป็น 14.24%
จากเคสตัวอย่าง จะเห็นได้ว่ามิจฉาชีพได้ใช้วิธีการรูปแบบต่างๆ ทั้งการอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ หลอกให้โหลดติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อได้เงินคืน หลอกเป็นธนาคารปล่อยสินเชื่อกู้ยืมเงิน อ้างให้โอนเงินผิดบัญชี ต้องโอนให้เพื่อปลดล็อกระบบ และหลอกให้โอนเงินลุ้นรับรางวัล โดยเสียค่าธรรมเนียมและภาษี หรือหลอกซื้อขายสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่ใช้การติดต่อผ่านโซเชียล สื่อสังคมออนไลน์ เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงง่าย ทั้ง Facebook และ Line เป็นหลัก และพบว่าผู้เสียหายละเลยข้อปฏิบัติ “4 ไม่” คือ 1.ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน
ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน ควรตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของตัวบุคคลที่ติดต่อด้วยทางแพลตฟอร์มนั้น ๆ โดยหากไม่แน่ใจ สามารถขอให้ชะลอการติดต่อหรือทำธุรกรรมร่วมกันก่อน และไม่ควรด่วนตัดสินใจโอนเงินซื้อสินค้าหรือทำธุรกรรมใด ๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 67)
Tags: กฟภ., มิจฉาชีพ, เตือนภัย, โจรออนไลน์