รัฐบาลประกาศกำหนดการเข้าร่วมโครงการ เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยจะเปิดลงทะเบียนประชาชนทั่วไปตั้งแต่ 1 ส.ค.-15 ต.ค.67 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.การลงทะเบียนของผู้ที่มีสมาร์ทโฟน ระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-15 ก.ย.67 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” โดยไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมใช้สิทธิ์ในโครงการฯ
2.การลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด ระหว่างวันที่ 16 ก.ย.-15 ต.ค.67 ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้านเช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน สำหรับการใช้จ่ายอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าจะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟน
ส่วนการลงทะเบียนร้านค้าเบื้องต้นกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งจะมีการแถลงคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทางและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และเงื่อนไขอื่น ๆ ต่อไป คาดว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 2 ล้านร้านค้า
การใช้จ่ายในโครงการฯ เริ่มภายในไตรมาส 4/67
3.คุณสมบัติประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ
1. ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
2. สัญชาติไทย
3. มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 ก.ย.67)
4. ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
5. ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาทโดยตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ (1) เงินฝากกระแสรายวัน (2) เงินฝากออมทรัพย์ (3) เงินฝากประจำ (4) บัตรเงินฝาก (5) ใบรับเงินฝาก และ (6) ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ (1)- (5)
ทั้งนี้ เงินฝากดังกล่าวให้หมายความถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม และเป็นเงินฝาก ณ วันที่ 31 มี.ค.67
6. ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
7. ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
8. ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
ประเภทสินค้า: สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรายการสินค้า Negative List เพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ การใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ จะไม่รวมถึงบริการต่าง ๆ
เงื่อนไขการใช้จ่ายที่ประชาชน-ร้านค้า ต้องรู้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงรายละเอียดที่ประชาชน และร้านค้า จะสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า แบ่งเป็น 2 กรณี
1. การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า : ประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น และในการซื้อสินค้าหากมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอใดก็ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกันเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face)
ทั้งนี้ การซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) จะมีการตรวจสอบใน 3 ส่วนเพื่อแสดงว่าการชำระเงินมีความสมบูรณ์ คือ 1.ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียน 2. ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านขณะลงทะเบียน และ 3. พิกัดที่อยู่ขณะใช้จ่ายกับร้านค้า จะต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน หากถูกต้องทั้ง 3 ส่วนจึงจะถือว่าการชำระเงินมีความสมบูรณ์
2. การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ร้านค้าทุกประเภท สามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) โดยสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ แม้จะอยู่ต่างพื้นที่ก็ตาม
ขั้นตอนโหลดแอปฯ “ทางรัฐ” และการลงทะเบียนรับสิทธิ
นายเผ่าภูมิ โรจสกุล รมช.คลัง กล่าวถึงการลงทะเบียนของประชาชนเพื่อเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในกรณีที่มีสมาร์ทโฟนนั้น ขอให้เตรียมดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้ทั้งระบบ iOS ที่ App Store และระบบ Android ที่ Google Play และทำการยืนยันตัวตนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
การลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนจะแบ่งประชาชนเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มที่ยังไม่เคยลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” มาก่อน
– เปิดแอปฯ ทางรัฐ
– กดปุ่มลงทะเบียนรับสิทธิโครงการที่หน้าแรกของแอปฯ
– อ่านรายละเอียด เงื่อนไข และยอมรับเงื่อนไข
– กรอกหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสหลังบัตร กรอกข้อมูลส่วนบุคคล (ชื่อ ที่อยู่ วันเกิด)
– สแกนใบหน้า ซึ่งเป็นการยืนยันอัตลักษณ์ (e-KYC)
จากนั้นระบบจะรับข้อมูลการลงทะเบียนเพื่อไปสู่ขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลตามทะเบียนราษฎร์ ใช้เวลาประมาณ 1 วัน หากตรวจสอบข้อมูลแล้วถูกต้องตรงกัน ระบบจะแจ้งข้อมูลไปยังผู้ใช้งานเพื่อให้สร้างบัญชีผู้ใช้ พร้อมกำหนดรหัสผ่าน กดปุ่ม “ยืนยัน” จากนั้นตั้ง Pin Code สำหรับเข้าใช้แอปฯ “ทางรัฐ” ซึ่งเมื่อทำครบทุกขั้นตอน จะถือว่าลงทะเบียนยืนยันตัวตนโดยสมบูรณ์
2. กลุ่มที่เคยลงทะเบียนและยืนยันตัวตน ผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” มาแล้ว (ก่อน 1 ส.ค.67)
– เปิดแอปฯ ทางรัฐ
– กดปุ่มลงทะเบียนรับสิทธิโครงการที่หน้าแรกของแอปฯ
– กดอนุญาตให้แอปฯ เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
– อ่านรายละเอียด เงื่อนไข และยอมรับเงื่อนไข
ทั้งนี้ การลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนจะเริ่มตั้งแต่ 1 ส.ค.-15 ก.ย.67 โดยประชาชนจะได้รับผลแจ้งสิทธิพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.67 เป็นต้นไป ผ่านการแจ้งเตือนในแอปฯ “ทางรัฐ”
ส่วนการลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียน และยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด (ระหว่างวันที่ 16 ก.ย.-15 ต.ค. 67) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ตโฟน
ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่
– www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย
– ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร 1111
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 67)
Tags: Digital Wallet, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ดิจิทัลวอลเล็ต, ทางรัฐ, พิชัย ชุณหวชิร, ลงทะเบียน, เผ่าภูมิ โรจนสกุล