นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ดำเนินการเจรจากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จนได้ผลการเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนจนนำมาสู่การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือกให้ BEM เป็นผู้ดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ BEM ได้เสนอที่จะลดอัตราค่าโดยสารเป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ กว่า 13,000 ล้านบาท
โดย รฟม.จะได้มีหนังสือแจ้งให้ BEM มาลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในวันที่ 18 ก.ค.67 เบื้องต้น รฟม.มีแผนที่จะเปิดให้บริการส่วนตะวันออกก่อนในเดือน พ.ค.71 และเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางในเดือน พ.ย.73 อย่างไรก็ตาม รฟม.จะได้กำกับและเร่งรัดกระบวนการก่อสร้าง รวมถึงเจรจากับ BEM ให้สามารถเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ได้ก่อนกำหนดภายในต้นปี 71
อย่างไรก็ตาม นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM ยืนยันว่า ยังไม่ได้เห็นข้อเสนอของ รฟม.ที่จะให้ BEM ลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นระยะเวลา 10 ปี นับจากวันเปิดให้บริการ เพราะจะมีผลกระทบกับรายได้ จึงต้องมาพูดคุยกันก่อน เพราะ BEM เป็นผู้รับความเสี่ยงเรื่องจำนวนผู้โดยสาร หากลดค่าโดยสารอีกก็ย่อมกระทบรายได้แน่นอน
“รฟม.เป็นคนกำหนดอัตราค่าโดยสาร และวิธีการปรับขึ้นค่าโดยสาร เขาก็เป็นคนกำหนดไว้ใน TOR เราผิดชอบการให้บริการเดินรถ ซ่อมบำรุงใน 30 ปีนับจากที่เปิดบริการ เรารับความเสี่ยงจำนวนผู้โดยสารเอง เราจะต้องจัดสรรรายได้ให้รฟม.ด้วย ถ้าปรับลดค่าโดยสารก็จะกระทบรายได้แน่นอน ก็ต้องคุยเรื่องรายจ่ายเพราะเรารับผิดชอบความเสี่ยงไปแล้ว เราต้องเอาเงินมาให้ก่อน ทำงานโยธา แล้วเขาก็ค่อยใช้คืน”
ทั้งนี้ BEM จะเซ็นสัญญาเงินกู้ วงเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาทกับธนาคารกรุงเทพ ที่เป็นธนาคารเจ้าหนี้หลัก ในสัปดาห์หน้า และบางส่วนเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดของ BEM
กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า การเดินรถส่วนแรกในฝั่งตะวันออกกำหนดเปิดบริการ พ.ค.71 แต่คาดว่าจะเปิดทดลองวิ่งเร็วกว่ากำหนดในช่วงปลายปี 70 หรือ ต้นปี 71 ช่วงแรกประเมินว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 2 แสนเที่ยว/วัน อาจจะได้ 1 แสนกว่าเที่ยว/วัน เหมือนช่วงเริ่มต้นการให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และเมื่อเปิดเดินรถฝั่งตะวันตกใน พ.ค.73 คาดจำนวนผู้โดยสารปรับขึ้นไป 2.2-2.3 แสนเที่ยว/วัน ซึ่งกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน (Breakeven) ใช้เวลาประมาณ 7-8 ปี อย่างไรก็ดี เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีส้มในแต่ละพื้นที่เป็นย่านชุมชน
โดยคาดว่ารายได้ของรถไฟฟ้าสายสีส้มจะดีขึ้นตั้งแต่ปี 72 แต่ในช่วงนี้จนถึงปี 72 บริษัทยังสามารถทำกำไรได้อยู่ เงินลงทุนที่ใช้ยังไม่กระทบกับงบกำไรขาดทุน แต่เมื่อเริ่มเดินรถในปี 71 ก็จะตัดค่าเสื่อมที่จะทยอย 30 ปีตามอายุสัมปทาน ซึ่งก็จะเป็นรายจ่ายของบริษัท
ทั้งนี้ ข้อเสนอของ BEM ในโครงการนี้ ขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาพร้อมดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นวงเงินรวม 95,432.04 ล้านบาท และเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. เป็นวงเงินรวม 10,000 ล้านบาทตลอดอายุสัญญาร่วมลงทุน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 67)
Tags: การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าสายสีส้ม, รฟม., วิทยา พันธุ์มงคล