SME D Bank คาด NPL สิ้นปีพุ่ง เล็งเปิดโครงการวันใหม่-ไปต่อ พลิกฟื้นธุรกิจ

น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank คาดว่า สิ้นปี 2563 จะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นประมาณ 3 พันล้านบาท ทำให้ทั้งปีนี้จะมีหนี้เสียทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านบาท หรือ 20% ของสินเชื่อคงค้าง

โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากโครงการพักชำระหนี้ที่จะสิ้นสุดลงในดือน ต.ค. นี้ โดยคาดว่าจะมีลูกหนี้ส่วนหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลกับลูกค้าของธนาคารมาตั้งแต่ต้นปี

“ในช่วงที่มีโครงการพักหนี้ พบว่า NPL ของธนาคารอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารได้เข้าไปเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้กลับมาเป็นหนี้ปกติได้ประมาณ 3 พันล้านบาท ส่งผลให้หนี้เสียของธนาคารอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีหนี้ NPL เพิ่มขึ้นมาอีก โดยธนาคารจะพยายามบริหารให้หนี้เสียอยู่ที่ 1.9-2 หมื่นล้านบาท หรือ 20% ของสินเชื่อคงค้าง”

นางสาวนารถนารี กล่าว

ที่ผ่านมาธนาคารได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งครอบคลุมลูกค้าประมาณ 70% ของลูกหนี้ทั้งหมด โดยส่วนที่เหลืออีก 20% ไม่สามารถเข้าโครงการได้ เนื่องจากมีสถานะเป็นหนี้เสีย และอีก 10% มีสินเชื่อเกินเกณฑ์เข้าพักชำระหนี้ส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งไม่ต้องการเข้าโครงการพักชำระหนี้ เพราะยังมีกำลังที่จะผ่อนชำระหนี้ได้

นอกจากนี้ โครงการพักชำระหนี้ทำให้รายได้ของธนาคารปี 2563 ลดลง คาดว่ารายได้จากดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 4.5 พันล้านบาท จากปี 2562 อยู่ที่ 5.2 พันล้านบาท และกำไรปีนี้คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาที่ขาดทุนกว่า 1 พันล้านบาท ขณะที่ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 3 หมื่นล้านบาท หรือ 1.5 หมื่นราย ใกล้เคียงกับปี 2562 ทั้งปีที่ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 3.8 หมื่นล้านบาท หรือ 1.5 หมื่นราย ซึ่งการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารปี 2563 เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแทบทั้งหมด เพื่อบรรเทาผลกระทบลูกค้าที่ได้รับจากโควิด-19

น.ส.นารถนารี กล่าวว่า จากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมาก กระทบความสามารถการชำระหนี้ที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ตามปกติของระบบสถาบันการเงิน มีข้อจำกัดต้องเป็นไปตามมาตรการทางกฎหมาย อีกทั้งต้นทุนสูงและใช้เวลานาน ไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเปราะบาง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและโลกยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

ดังนั้น SME D Bank จึงได้ร่วมกับบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) เพื่อแก้ไขปัญหาและหาทางออกที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อ่อนแอ ผ่านโครงการ “วันใหม่-ไปต่อ” พาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของสองหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งจะได้รับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และข้อกำหนดทางกฎหมาย ลดภาระการชำระหนี้ พลิกฟื้นธุรกิจได้อีกครั้ง รวมถึงรักษาสถานะทางการเงินของธนาคาร ช่วยให้มีสภาพคล่องรองรับการขับเคลื่อนนโยบายทางการเงิน

“โครงการวันใหม่-ไปต่อ เป็นการบูรณาการความช่วยเหลือดูแลลูกหนี้กลุ่มที่ต้องการการฟื้นฟู ซึ่งมีข้อตกลงเบื้องต้นให้ทั้ง 2 หน่วยงานเข้ามาศึกษา portfolio ของธนาคาร ซึ่งกรอบแนวทาง นอกจากการปรับโครงสร้างทางการเงินที่หน่วยงานบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Company: AMC) จะดำเนินการแล้ว ยังเพิ่มเติมด้วยการเสริมความรู้ด้านบริหารจัดการให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และหากสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ SME D Bank ยินดีจะรับลูกค้ากลับมาดูแลต่อให้ธุรกิจดำเนินเติบโตต่อเนื่อง”

น.ส.นารถนารีกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (9 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top