นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า เอชเอสบีซี มีความมุ่งมั่นในการรังสรรค์โซลูชันทางการเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และสนับสนุนให้ลูกค้าของธนาคารบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนไปพร้อมกับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการค้าระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุปทาน
“เป้าหมายของธนาคาร คือ การเป็นพันธมิตรด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับโซลูชันด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ความไว้วางใจ” นายจอร์โจ กล่าว
ปัจจุบันธนาคารเอชเอสบีซีมีโซลูชันทางการเงินด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) และความยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเชื่อมโยงเป้าหมายด้านความยั่งยืนเข้ากับเป้าหมายทางการเงินในการทำธุรกิจได้อย่างลงตัว ตลอดจนยังมีโซลูชันและทีมผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG โดยเฉพาะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแผนการเปลี่ยนผ่านและลดการปล่อยคาร์บอนในแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางการเงินที่เหมาะสมและครอบคลุมไปถึงห่วงโซ่อุปทานของลูกค้า
นายกฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า เอชเอสบีซีมีความแข็งแกร่งในการสนับสนุนและจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จำเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
“เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อบูรณาการแนวคิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศอย่างครอบคลุมในกลุ่มธุรกิจของธนาคาร” นายกฤษฎา กล่าว
นางทุย โง้ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริการการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ฝ่ายบริการการค้าระหว่างประเทศ (HSBC Trade Solutions: GTS) มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ เติบโตในระดับสากล สร้างเครือข่ายใหม่ ขยายการค้าไปยังประเทศต่างๆ และมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับภูมิทัศน์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
ปัจจุบันการดำเนินงานด้านการค้าระหว่างประเทศของเอชเอสบีซี ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงการค้าระหว่างประเทศได้ถึง 90% ของมูลค่าการค้าทั่วโลก ซึ่งในปีที่ผ่านมา ธนาคารอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้กับลูกค้าคิดเป็นมูลค่าถึง 8.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 30.7 ล้านล้านบาท โดยลูกค้ายังได้รับประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคารกว่า 1.3 ล้านรายทั่วโลก นอกจากนั้น การที่ธนาคารมีความสัมพันธ์อันยาวนานทั้งกับบริษัทคู่ค้าและผู้ซื้อ ยังสามารถช่วยเชื่อมโยงลูกค้าเข้ากับพันธมิตรที่เหมาะสม ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกด้วย
ขณะที่ประเทศไทยมีเป้าหมายระยะยาวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 93 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ (Net Zero) ภายในปี 2608 โดยธนาคารเข้าใจถึงความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เป็นอย่างดี
“เราทราบว่าประมาณ 80% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนขององค์กรต่างๆนั้นมาจากห่วงโซ่อุปทานของภาคธุรกิจ ดังนั้น สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนนี้ จึงเป็นโซลูชันที่มีส่วนช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนความยั่งยืนและความสามารถในการปรับตัวภายในระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาได้” นางทุย โง้กล่าว
เอชเอสบีซีคาดว่าสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนนี้อาจสามารถมีส่วนช่วยให้บริษัทต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทที่ 3 จากห่วงโซ่อุปทานได้ ตลอดจนยังอาจผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วย และยังพบว่าความท้าทายสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อุปทาน คือ การขาดเงินทุนและการขาดความรู้ความเข้าใจ
ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนจึงอาจมีส่วนช่วยคู่ค้าของลูกค้าองค์กรของธนาคารให้เข้าถึงเงินทุนหมุนเวียน ที่มักอยู่ในรูปแบบเงื่อนไขการชำระเงินล่วงหน้าหรือการลดอัตราดอกเบี้ยได้ เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าเหล่านี้สามารถนำเงินทุนไปใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับใช้กับโครงการด้านความยั่งยืนอื่นๆได้ในวงกว้างมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 67)
Tags: กฤษฎา แพทย์เจริญ, ธนาคารเอชเอสบีซี