ศาลสูงฮิโรชิมะมีมติในวันนี้ เพื่ออนุมัติการเปลี่ยนเพศอย่างเป็นทางการให้กับหญิงข้ามเพศรายหนึ่ง แม้ยังไม่ได้ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศตามที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ดี มติดังกล่าวมีผลกับบุคคลข้ามเพศรายนี้เท่านั้น
ศาลสูงฮิโรชิมะระบุว่า ข้อกำหนดที่บังคับให้ต้องผ่าตัดแปลงเพศนั้น “น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ” โดยเสริมว่าหลังจากที่บุคคลข้ามเพศรายนี้ได้รับฮอร์โมนบำบัดแล้ว อวัยวะเพศของบุคคลรายนี้ซึ่งเดิมทีเป็นเพศชายแต่กำเนิดนั้น มีลักษณะคล้ายกับของผู้หญิงแล้ว
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การอนุมัติให้เปลี่ยนเพศจากชายเป็นหญิงโดยไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศ เช่น การตัดลูกอัณฑะ ถือเป็นเรื่องที่พบได้ยากมาก
ศาลสูงฮิโรชิมะได้อนุมัติคำร้องขอเปลี่ยนเพศของบุคคลข้ามเพศรายนี้ ในการพิจารณาคดีที่ศาลฎีกาส่งกลับมา โดยบุคคลข้ามเพศที่เป็นผู้ร้องในคดีนี้อาศัยอยู่ในภาคตะวันตกของญี่ปุ่น และเปิดเผยแค่ว่ามีอายุไม่ถึง 50 ปี
เมื่อเดือนต.ค. ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า ข้อกำหนดทางกฎหมายที่ให้ต้องตัดอวัยวะสืบพันธุ์เพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนเพศนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ก็ให้ศาลสูงพิจารณาข้อกำหนดเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศใหม่
ศาลฎีการะบุว่าข้อกำหนดตามกฎหมายเรื่องการทำหมันนั้นละเมิดมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญที่ให้การรับรองคุ้มครองแก่ปัจเจกบุคคล
ทั้งนี้ กฎหมายสำหรับผู้ที่มีความไม่พอใจในเพศกำเนิด (gender dysphoria) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547 นั้น ได้กำหนดเงื่อนไข 5 ข้อสำหรับผู้ที่ต้องการจดทะเบียนเปลี่ยนเพศ และต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์อย่างน้อย 2 รายว่าผู้ร้องไม่พอใจในเพศกำเนิดของตนเองด้วย
เงื่อนไขทั้ง 5 ข้อคือ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี, โสด, ไม่มีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ, “ไม่มีต่อมสืบพันธุ์” หรือมีต่อมสืบพันธุ์ที่ “สูญเสียการทำงานถาวร” และมี “ร่างกายที่ดูเหมือนมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่คล้ายกับของเพศตรงข้าม”
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองว่า คำตัดสินของศาลสูงครั้งนี้อาจเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาทบทวนข้อกำหนดที่บังคับให้ต้องผ่าตัดก่อนที่จะขอเปลี่ยนเพศได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ค. 67)
Tags: ญี่ปุ่น, บุคคลข้ามเพศ, ผ่าตัดแปลงเพศ