สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จ่อปรับเป้ายอดขายในประเทศ หลังสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในอัตราต่ำ โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลงและมีการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้ ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทางและพลังงานมีราคาสูงขึ้น
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานส.อ.ท. และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน พ.ค.67 มีจำนวน 49,871 คัน เพิ่มขึ้น 6.70% จากเดือน เม.ย.67 แต่ลดลง 23.38% จากเดือน พ.ค.66 เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในอัตราต่ำจากการล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การลงทุนของภาครัฐลดลง ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันมากกว่าสิบเดือน โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลงและมีการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้ ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทางและพลังงานมีราคาสูงขึ้น
อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 ที่กำลังพิจารณาในสภาฯ แต่เศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 3% หรือไม่ ยังน่ากังวลถ้ายอดผลิตรถยนต์และขายรถยนต์ และขายอสังหาริมทรัพย์ยังติดลบ เพราะทั้งสองอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องและแรงงานมากซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศมาก ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียอดขายรวม 260,365 คัน ลดลง 23.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“สถานการณ์ตอนนี้ น้อง ๆ ต้มยำกุ้งเมื่อปี 39 คิดว่าต้องปรับเป้าแน่ๆ โดยเฉพาะยอดขายในประเทศ” นายสุรพงษ์ กล่าว
- ยอดผลิตลดตามยอดขายในประเทศ
ยอดผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือน พ.ค.67 มีจำนวน 126,161 คัน ลดลง 16.19% จากเดือน พ.ค.66 จากการผลิตรถกระบะขายในประเทศลดลง 54.66% และผลิตรถยนต์นั่งขายในประเทศลดลง 14.35% ตามยอดขายในประเทศที่ลดลงจากเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่พร้อมเต็มที่ แต่เพิ่มขึ้น 20.54% จากเดือน เม.ย.67 ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ทั้งสิ้น 644,951 คัน ลดลง 16.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ลุ้นเป้าส่งออก
ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน พ.ค.67 อยู่ที่ 89,284 คัน เพิ่มขึ้น 3.39% จากเดือน พ.ค.66 โดยมีมูลค่าส่งออก 83,754.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.93% จากเดือน พ.ค.66
ขณะที่ยอดส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.67) อยู่ที่ 429,969 คัน ลดลง 2.28% โดยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์รวม 401,637.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“มูลค่าส่งออกปีนี้ยังไม่รู้ว่าจะถึง 1 ล้านล้านบาทหรือไม่” นายสุรพงษ์ กล่าว
- ความนิยมรถไฟฟ้าเพิ่มหลังราคาน้ำมันแพง
– ยอดจดทะเบียนยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV)ในเดือน พ.ค.67 มีจำนวน 8,166 คัน เพิ่มขึ้น 14.50% จากเดือน พ.ค.66 และช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนสะสมรวม 43,921 คัน เพิ่มขึ้น 31.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับถึงวันที่ 31 พ.ค.67 มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 175,316 คัน เพิ่มขึ้น 168.34% จากปีก่อน
– ยอดจดทะเบียนใหม่ของยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) มีจำนวน 10,789 คัน เพิ่มขึ้น 34.64% จากเดือน พ.ค.66 และช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนสะสมรวม 59,317 คัน เพิ่มขึ้น 53.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับถึงวันที่ 31 พ.ค.67 มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 402,414 คัน เพิ่มขึ้น 35.06% จากปีก่อน
– ยอดจดทะเบียนใหม่ของยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) มีจำนวน 704 คัน ลดลง 31.32 จากเดือน พ.ค.66 และช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนสะสมรวม 4,053 คัน ลดลง 22.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับถึงวันที่ 31 พ.ค.67 มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 57,879 คัน เพิ่มขึ้น 21.89% จากปีก่อน
“ยอดขายรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นรถที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนที่ผลิตในประเทศคงทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” นายสุรพงษ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 67)
Tags: ยอดส่งออก, รถยนต์, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์