เงินบาทเปิด 36.79/81 อ่อนค่า ให้กรอบวันนี้ 36.65-36.90 จับตา BOJ หลังเยนอ่อนค่ามาก

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 36.79/81 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากปิด ตลาดเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 36.65 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทอ่อนค่าจากปิดตลาด เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า หลังเมื่อวันศุกร์ (21 มิ.ย.) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ของสหรัฐฯ ออกมาดี ในขณะที่ PMI ของฝั่งยุโรปออกมาแย่ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนั้นต่างหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่า

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม คือ ความเห็นจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังต้องจับตาธนาคารญี่ปุ่น (BOJ) ว่าจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไร หลังค่าเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 30 ปี

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.65 – 36.90 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยน อยู่ที่ระดับ 159.74/75 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 158.83 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0690/0691 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0691 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ระดับ 36.707 บาท/ดอลลาร์

– ข้าวไทยมีเฮ ฟิลิปปินส์ผู้นำเข้าเบอร์หนึ่งโลก ปรับลดภาษีนำเข้า 35% เหลือ 15% ระยะเวลา 5 ปี แนะผู้ประกอบการจับ ตาใกล้ชิด

– นักเศรษฐศาสตร์” ชี้จุดเสี่ยง เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง จากกำลังซื้อซึมยาว การใช้จ่ายภาครัฐกระจุกตัว “ซีไอเอ็มบี ไทย” ห่วงกำลังซื้อระดับล่าง-กลางอ่อนแอ ลามกระทบธุรกิจขนาดใหญ่พัง “อีไอซี” มองความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมาจากต่างประเทศมาก สุด “ทีดีอาร์ไอ” ชี้ไทยเสียโอกาสช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้น ภาคท่องเที่ยวโดนนโยบายจีนเที่ยวจีนกระหน่ำ ภาคการผลิตทรุด โรงงานปิด สะท้อนแข่งขันไม่ได้

– โฆษกกรมสรรพสามิต เผยผลการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 67 (ต.ค.66-พ.ค.67) อยู่ที่ 349,563 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4% และเพิ่มขึ้นมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 67 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% สะท้อนถึง ประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และยังสะท้อนถึงการใช้จ่ายในประเทศที่ดีขึ้น ตามการ ท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

– ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็น NPL ของ สินเชื่อบัตรเครดิต, บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล พบว่า ณ วันที่ 31 พ.ค.67 มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการแก้หนี้สะสม ตั้งแต่ต้น โครงการรวม 183,239 บัญชี แบ่งเป็น ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้งสิ้น 97,645 ราย ขณะที่เป็นลูกหนี้ของ บริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 85,954 ราย

– เงินเยนยังคงถูกกดดัน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่จะยังไม่ปรับลดโครงการซื้อพันธบัตร โดยจะรอจน กว่าจะถึงการประชุมเดือนก.ค.เพื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าว

– เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของ สหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.6 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือน จากระดับ 54.5 ในเดือนพ.ค. ดัชนี PMI ได้รับแรง หนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ ถึงการขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐ

– นักยุทธศาสตร์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยระดับโลกที่แมคควอรีในนิวยอร์กมองว่า เงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อ เนื่อง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในที่สุด

– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (21 มิ.ย.) โดยถูกกดดันจากการที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบ แทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น หลังการเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

– ข้อมูล FedWatch ของ LSEG บ่งชี้ว่า ตลาดการเงินยังคงปรับตัวรับโอกาส 58% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับ ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือนก.ย. และยังคงคาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้

– ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะมีการรายงานในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.จาก Conference Board, ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ค. และ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนพ.ค.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top