In Focus: เลือกตั้งฝรั่งเศส เมื่อฝ่ายซ้าย-ขวาชูประชานิยม ปมหายนะจ่อมาเยือน

หลังจากที่พรรคพันธมิตรสายกลางของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส พ่ายแพ้ให้กับพรรคเนชั่นแนล แรลลี (National Rally) หรือ RN ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด ในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ปธน.มาครงก็ตัดสินใจประกาศยุบสภาในวันเดียวกันนั้นทันที พร้อมกับจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสใหม่แบบสายฟ้าแลบ ซึ่งจะมีขึ้น 2 รอบในวันที่ 30 มิ.ย. และ 7 ก.ค.

ทว่าการเดิมพันของปธน.มาครงที่หวังให้พรรคอื่น ๆ ตั้งตัวไม่ทันด้วยการให้เวลาเตรียมตัวเลือกตั้งเพียงไม่กี่สัปดาห์นั้น อาจย้อนกลับมาทำร้ายตัวปธน.มาครงเสียเอง รวมถึงอาจทำให้การคลังและตลาดการเงินของประเทศเข้าขั้นหายนะด้วย เนื่องจากทั้งฝ่ายซ้ายจัดและขวาจัดในรอบนี้ต่างก็ชูนโยบายประชานิยม ซึ่งยิ่งเพิ่มหนี้สาธารณะมากขึ้นไปอีก

In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาทุกท่านไปสำรวจการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการคลังสาธารณะ หากพรรค RN ผู้เป็นตัวเต็ง ชนะการเลือกตั้งได้สำเร็จ

 

*จะซ้ายหรือขวาก็ชูประชานิยม สายกลางของมาครงอยู่นอกสายตา*

ผลสำรวจล่าสุดโดย Ifop for LCI ชี้ว่า พรรค RN ของนางมารีน เลอ เปน ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านสหภาพยุโรป (EU) และต่อต้านผู้อพยพ จะได้รับคะแนนเสียง 33% ในการเลือกตั้งรอบแรกในวันที่ 30 มิ.ย. ลดลง 2% จากผลสำรวจครั้งก่อนของ Ifop แต่เมื่อรวมกับสัดส่วนของกลุ่มพรรคสาธารณรัฐสายอนุรักษนิยมที่ยินดีจะจับมือกับพรรค RN ด้วยแล้วนั้น ทำให้คะแนนเสียงรวมขึ้นมาอยู่ที่ 37%

ทางด้านคะแนนเสียงของกลุ่มพันธมิตรพรรคฝ่ายซ้ายจัดปัจจุบันอยู่ที่ 28% เพิ่มขึ้นจากเดิม 2% ขณะที่กลุ่มสายกลางของปธน.มาครงตามมาเป็นอันดับสามที่ 18% ลดลง 1%

แม้พรรค RN จะยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดนโยบายสำหรับการเลือกตั้งในรอบนี้ แต่เมื่อดูจากการเลือกตั้งรัฐสภาฝรั่งเศสคราวก่อนในปี 2565 แล้ว พบว่าเป็นแนวประชานิยม

ในคราวนั้น พรรค RN เสนอว่าจะปรับลดอายุเกษียณที่มีสิทธิ์รับเงินบำนาญจาก 64 ปี ลงมาเป็น 60 ปี และให้โอนกิจการบริการถนนเก็บค่าผ่านทางกลับมาเป็นของรัฐ

นอกจากนี้ พรรค RN ยังเสนอให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับคนทำงานที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ยกเลิกภาษีมรดกสำหรับคนยากจนและชนชั้นกลาง ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับน้ำมันเบนซิน เชื้อเพลิงทำความร้อน ไฟฟ้า และก๊าซ จาก 20% เหลือแค่ 5.5% ขณะเดียวกันก็เพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขอีก 2 หมื่นล้านยูโร

หากไม่มีการระบุเพิ่มในภายหลังว่าพรรค RN จะหาเงินมาจากไหน นั่นหมายความว่าแนวทางของพรรคขวาจัดคือ ลดรายได้และเพิ่มรายจ่ายของรัฐบาล ยอมให้ประเทศเป็นหนี้เพิ่มเพื่อเอาใจประชาชน

ด้านฝ่ายซ้ายจัดเต็งสองที่ควรจะมีอุดมการณ์ตรงกันข้ามกับพรรค RN กลับชูนโยบายประชานิยมเช่นเดียวกัน โดยพันธมิตรฝ่ายซ้ายที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ ระบุเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (14 มิ.ย.) ว่า ต้องการปรับลดอายุเกษียณและผูกค่าแรงขั้นต่ำเข้ากับอัตราเงินเฟ้อ แต่จะขึ้นภาษีคนรวยและบริษัทต่าง ๆ ซึ่งทำร้ายการคลังของประเทศน้อยกว่าแนวทางของพรรคขวาจัด

ทางด้านกลุ่มของมาครงเต็งสามชูเรื่องวินัยการคลัง โดยนายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสจากพรรคเรอแนซ็องส์ (Renaissance) ของมาครง กล่าวเตือนว่าฝรั่งเศสอาจเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเงิน หากพรรคขวาจัดหรือซ้ายจัดชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีกาเบรียล แอตทาล จากพรรคเดียวกัน ก็กล่าวในทำนองเดียวกันกับสถานีวิทยุ RTL ว่า ชัยชนะของทั้งสองฝ่ายนี้จะเป็นหายนะสำหรับฝรั่งเศส เศรษฐกิจ และการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม เคลม็องตีน โอแต็ง สส.คนสำคัญของพรรคฝ่ายซ้ายจัด “ลาฟร็องแซ็งซูมีซ” (France Insoumise) สวนกลับว่า ความเสียหายเกิดขึ้นแล้วจากรัฐบาลมาครง

“พวกเขาทิ้งหนี้สินไว้เป็นกองพะเนินโดยไม่ได้ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฝรั่งเศสเลย เป็นเรื่องน่ารังเกียจมากที่พวกเขามาเทศนาสั่งสอนเรา” โอแต็งกล่าวในการประชุมของฝ่ายซ้าย ณ ชานกรุงปารีส

ทั้งนี้ สาเหตุที่กลุ่มของมาครงเสียความนิยม เป็นผลพวงจากปีที่แล้วที่มาครงริเริ่มแผนปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญ เช่น การเพิ่มอายุเกษียณสำหรับพนักงานส่วนใหญ่ในฝรั่งเศส จากเดิม 62 ปี เป็น 64 ปี จนนำไปสู่เหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่นานหลายสัปดาห์และทำให้คะแนนนิยมของปธน.มาครงทรุดฮวบนับตั้งแต่นั้นมา

 

*นักลงทุนผวา ขวาจัดมาแรง เสี่ยงทำประเทศเกิดวิกฤตงบประมาณ*

กระแสพรรคฝ่ายขวาจัดและซ้ายจัดที่กำลังมาแรงนี้ ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลถึงความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตงบประมาณในประเทศฝรั่งเศส

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี CAC 40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสทำผลงานย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2566 ทรุดตัวลงกว่า 6% โดยได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลว่า พรรค RN อาจชนะเลือกตั้งแล้วใช้นโยบายการคลังแบบประชานิยม ตลอดจนมาตรการที่มุ่งเป้าไปที่ธนาคารพาณิชย์

นอกเหนือจากแรงเทขายในตลาดหุ้นแล้ว ต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าสเปรดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของฝรั่งเศสและเยอรมนียังปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.25% โดยโกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า ค่าสเปรดจะยังคงปรับตัวขึ้นในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า

“สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มต่าง ๆ ในตลาดหุ้นฝรั่งเศส โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งมีความอ่อนไหวต่อค่าสเปรดอัตราผลตอบแทนพันธบัตร”

ทีมนักกลยุทธ์ของโกลด์แมน แซสค์ระบุในรายงานวิจัย

ปัจจุบัน ฝรั่งเศสมีภาระหนี้สาธารณะสูงที่สุดในยุโรปถึง 2.3 ล้านล้านยูโร และในปีที่แล้วก็ขาดดุลงบประมาณภาครัฐถึง 5.5% ของ GDP แต่สถาบันคลังสมอง Montaigne ประมาณการว่า นโยบายต่าง ๆ ของพรรค RN อาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1 แสนล้านยูโร หรือคิดเป็นมากกว่า 3.5% ของ GDP ซึ่งหมายความว่าหาก RN บังคับใช้นโยบายได้ทั้งหมด งบประมาณภาครัฐฝรั่งเศสจะขาดดุลสูงถึง 9% ของ GDP

“ตอนนี้ทุกคนโฟกัสไปที่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตในระยะสั้น”

นายกอร์ดอน แชนนอน ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของ TwentyFour Asset Management กล่าว

“เหมือนกับตอนที่อังกฤษประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบย่อม ๆ” นายแชนนอนกล่าว โดยอ้างถึงกรณีของนางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น ที่ประกาศลดภาษีในปี 2565 โดยไม่ระบุว่าจะหารายได้ชดเชยมาจากไหน จนทำให้พันธบัตรรัฐบาลอังกฤษร่วงหนัก และบังคับให้ธนาคารกลางอังกฤษต้องเข้าแทรกแซงเพื่อพยุงตลาด

ปัญหาทางการคลังของฝรั่งเศสนี้เองส่งผลให้ Standard & Poor’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้สาธารณะระยะยาวของฝรั่งเศสจาก “AA” เป็น “AA-” เมื่อเดือนที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่า การขาดดุลที่สูงกว่าคาด จะทำให้หนี้สาธารณะของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของยูโรโซน พุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสจำเป็นต้องลดการขาดดุลงบประมาณภาครัฐให้ต่ำกว่าเพดานของ EU ที่ 3% ให้ได้ภายในปี 2570 มิฉะนั้นก็อาจเผชิญกับกระบวนการทางกฎหมายจากการละเมิดกฎ และอาจถูกปรับเป็นเงินมูลค่าเท่ากับ 0.05% ของ GDP ทุก ๆ 6 เดือนหากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้

แต่อนิจจา ด้วยความที่ทั้งฝ่ายขวาจัดหรือซ้ายจัดต่างก็ใช้นโยบายประชานิยมในรอบนี้ ทำให้ฝรั่งเศสมีแนวโน้มสูงที่จะไม่บรรลุเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณในปัจจุบัน ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top