“ชัยธวัช” ติงงบปี 68 สูงเป็นประวัติการณ์ ไร้ทิศทาง ดันทุรัง “ดิจิทัลวอลเล็ต”

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 โดยเป็นงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาทว่า งบประมาณรายจ่ายปี 68 นี้ ถือว่าสูงมากเป็นประวัติการณ์ โดยเงินที่ใช้จ่ายมาจากรายได้รัฐบาล และเงินกู้ ซึ่งเป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว

โดยรัฐบาล ได้ประมาณการรายได้ที่ 2.88 ล้านบาท ที่เหลือรายจ่ายมาจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 8.65 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่า เป็นการวางเงินกู้ที่เกือบชนเพดาน หรือเหลือพื้นที่ที่จะกู้เพิ่มได้เพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น และเมื่อเทียบกับงบปี 67 งบปีนี้ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นสูงถึง 2.72 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 7.8% ถือเป็นการเพิ่มงบประมาณในสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของประเทศอย่างก้าวกระโดดนั้น โดยกู้เงินมาใช้เกือบชนเพดาน จะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่นั้นต้องดูในรายละเอียด โดยเมื่อดูในรายละเอียด การจัดสรรงบปี 68 แทบจะเหมือนเดิม มีปัญหาแบบเดิม ๆ เพิ่มเติมคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต

“งบปีนี้มีปัญหาเดิม ๆ คือเป็นการจัดสรรงบประมาณที่มียุทธศาสตร์เต็มไปหมด แต่ไม่มียุทธศาสตร์จริง เพราะเป็นการจัดสรรงบที่มีคำพูดสวยหรู แต่ลงในรายละเอียดซ้ำซาก ซ้ำซ้อน เบี้ยหัวแตก มองไม่เห็นเป้าหมายนโยบายที่ชัดเจน ตัวชี้วัดใช้ไม่ได้ เป็นการใช้งบฯ แบบไม่สนใจผลลัพธ์ในการปฎิบัติจริง ๆ” นายชัยธวัช กล่าว

นอกจากนี้ งบฯ ปี 68 ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจเต็มในการจัดสรร กลับมีโครงการใหม่เพียง 163 โครงการ ซึ่งน้อยกว่าการจัดสรรงบปี 67 มาก และยังมีเหล้าเก่าในขวดใหม่อีกจำนวนมาก

นายชัยธวัช กล่าวว่า รายจ่ายในการลงทุนจำนวนมาก เป็นรายจ่ายที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจริง ๆ แต่ไปยึดโยงกับเครือข่ายการเมือง และผลประโยชน์ที่มีส่วนผลักดันให้รัฐบาลเข้าสู่อำนาจจำนวนมาก

“รัฐบาลใหม่ไม่มีวาระทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร แต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำ ไร้ทิศทาง ผู้นำมีข้อสั่งการเยอะแยะ แต่จะมีแนวทางในการมอบหมายให้หน่วยงานจริง ๆ หรือไม่ว่าต้องทำอย่างไร เห็นอาการนายสั่งแต่ไม่บอกว่าให้ทำอะไร ข้าราชการก็จัดให้นำป้ายเดิมมาแปะป้ายใหม่ แล้วสรุปมาเป็นภาพรวมตัวเลขสวยหรูว่าตอบสนองนโยบายใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่” นายชัยธวัช กล่าว

สิ่งที่ใหม่สำหรับวาระงบประมาณ 68 มีแค่เรื่องความพยายามที่จะผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้สำเร็จ เรียกได้ว่าดันทุรังขนาดที่ว่า “เจ๊งไม่ว่าแต่เสียหน้าไม่ได้” โดยงบที่จะใช้ในโครงการฯ อยู่ในงบกลางของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นรายการตั้งใหม่ ชื่อ “ค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ” จำนวน 157,200 ล้านบาท คิดเป็น 18.9% ของงบกลาง

ทั้งนี้ งบสำหรับโครงการดังกล่าวนั้น ไม่เพียงพอ มีการคาดการณ์ว่าที่เหลือจะใช้งบจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ราว 1.73 แสนล้านบาท และน่าจะมีการของบกลางปี 67 เพิ่มอีกราว 1.22 ล้านบาท และถ้าไม่พออีกรัฐบาลอาจออกพ.ร.บ.โอนงบประมาณจากงบสำรองรายจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นมาใส่เพิ่มอีกก็เป็นได้

นายชัยธวัช กล่าวว่า ในภาพรวม ผลของการจัดสรรงบมาใช้สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางการคลัง ทั้งเฉพาะหน้า และระยะยาว ภาระค่าใช้จ่าย การจ่ายหนี้ของภาครัฐจะสูงขึ้นในอนาคต และจะสูญเสียพื้นที่ทางการคลัง หากจำเป็นต้องมีการใช้จ่ายฉุกเฉินจริง ๆ หรือการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ในอนาคต

ปัญหาของงบปี 68 ที่มีลักษณะ คือ “เจ๊งไม่ว่าแต่เสียหน้าไม่ได้” เพราะรัฐบาลชุดนี้ประสบปัญหาวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล พอเข้ามาบริหารประเทศ จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ และปากท้องของประชาชนให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น พรรคแกนนำรัฐบาลจึงเหลือความหวังเดียว คือเชื่อว่าถ้าผลักดันโครงการดิจิทัลได้ ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงที่เคยหาเสียงไว้ ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลจะฟื้น

นายชัยธวัช กล่าวว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการคิดโครงการแบบไม่รอบด้าน คิดไปทำไป กลับไปกลับมา จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน และมองว่าแนวคิดในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้อาจใช้ได้กับประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อน เพราะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในไทยในขณะนี้ เช่น การกระตุ้นการบริโภคโดยอัดเงินในระยะสั้น อาจไม่กระตุ้นการผลิต การจ้างงาน และจะเจอปัญหาช่องทางการเงินที่ไหลออก ดูดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจในประเทศ

ทั้งนี้ จากบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจแทบทุกแห่งชี้ตรงกันว่า ถ้าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไม่สามารถอาศัยเพียงการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นที่ไม่ได้เกิดจากการจ้างงาน หรือการอาศัยสภาพคล่องสินเชื่อทางเศรษฐกิจ หรือที่รัฐบาลกดดันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ลดดอกเบี้ย แต่ถึงเวลาที่ควรปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มภาคการผลิต ไม่ใช่หวังแค่เพิ่มการท่องเที่ยว ดังนั้น การวางเดิมพันที่ใช้งบนี้ไม่ตอบโจทย์ประเทศ แต่ตอบโจทย์รัฐบาลเท่านั้น

“ร่างพ.ร.บ.งบปี 68 สะท้อนว่า ปัญหาความไม่ชอบธรรมทางการเมืองของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งโจทย์ของรัฐบาลกับโจทย์ของประเทศไม่ใช่โจทย์เดียวกัน จึงเป็นการจัดสรรงบที่มักง่ายและสุ่มเสี่ยงที่สุด รัฐบาลแก้ปัญหาวิกฤตของตนเองโดยการนำโอกาสของประเทศมาใช้โดยไม่รับผิดชอบ นโยบาย Ignite Thailand เลยกลายเป็น Ignore Thailand เจ๊งไม่ว่าแต่เสียหน้าไม่ได้ ด้วยเหตุผลทั้งหมด จึงไม่สามารถเห็นชอบกับร่างงบฯ ปี 68 ได้” นายชัยธวัช กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top