กนง.ส่งสัญญาณชัด มอง GDP ปีนี้มีสิทธิโตถึง 3% ตามเป้าหมายรัฐบาล เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบแน่

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ GDP ปีนี้แตะที่ระดับ 3% ว่า ในการประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ กนง.ได้พิจารณาภาพรวมของนโยบายและมาตรการของรัฐที่มีความชัดเจนแล้ว สิ่งที่ชัดเจนสุด คือ เรื่องงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุน และการบริโภคภาครัฐ ส่วนมาตรการเสริม เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ได้รวมไว้ในการพิจารณาด้วยแล้ว เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ได้ประมาณหนึ่ง ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/68

“ไม่ว่ามาตรการภาครัฐ จะมามากกว่าที่เรามองไว้หรือไม่ ภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้เปลี่ยนไปแบบมากนัก ยังคงเป็นทิศทางเดียวกัน จุดยืนนโยบายการเงินก็ยังคงรองรับความเสี่ยงด้านสูงตอนนั้นได้ด้วย พร้อมกับความเสี่ยงด้านต่ำที่อาจจะมาจากภาคส่งออกด้วย เราได้พิจารณาจากทุกมาตรการรัฐที่ประกาศมาทั้งหมด ตัวเลข 3% คิดว่าเป็นไปได้ ถ้าเร่งเบิกจ่ายภาครัฐ หรือมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามา” นายปิติ กล่าว

*GDP ครึ่งปีหลังยังมีแรงส่งที่ดี

นายปิติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/67 มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากผลของการส่งออกภาคบริการ และการท่องเที่ยวที่ได้เข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ รวมทั้งการบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แม้อัตราการขยายตัวจะยังต่ำแค่ 1.5% เทียบปีต่อปี แต่การขยายตัวเมื่อเทียบไตรมาส/ไตรมาส (ไตรมาส 4/66 กับไตรมาส 1/67) ถือว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว

“อัตราการขยายตัวที่ 1.5% แม้เทียบปีต่อปี (YoY) จะดูไม่สูงมาก และเป็นอัตราที่ต่ำกว่าศักยภาพ แต่ถ้ามองในแง่ของแนวโน้มโมเมนตัม แรงส่งเทียบไตรมาส 4/66 กับไตรมาส 1/67 กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การหมุนเวียนของการจับจ่ายใช้สอยมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างเร็ว หากเทียบรายไตรมาส/ไตรมาส อาจจะสูงกว่าระดับศักยภาพด้วยซ้ำไป” นายปิติ ระบุ

โดยมองภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังมีแรงส่งที่ดี แม้อาจจะแผ่วลงบ้างในช่วงที่เหลือของปี แต่ถือว่าอัตราการขยายตัวใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยตั้งแต่เดือนต.ค.เป็นต้นไป คาดว่าจะเห็นเงินเฟ้อสูงกว่า 1% ส่วนในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพ

“ไตรมาส 1 โต 1.5% ไตรมาส 2 ก็น่าจะเกิน 2% ไตรมาส 3 อาจจะ 2% ปลาย ๆ ใกล้ 3% และไตรมาส 4 ก็ 3% ปลาย ๆ ใกล้ 4% จึงทำให้คงตัวเลข GDP ทั้งปีนี้ไว้ที่ 2.6% และเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็มีความสมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะส่งออกที่เคยเป็นลบ ก็เริ่มบวกมากขึ้น การบริโภคเอกชน จะมีบทบาทน้อยลงบ้าง เพราะที่ผ่านมา ถือว่าขยายตัวค่อนข้างสูง” นายปิติกล่าว

พร้อมมองว่า แรงส่งสำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมาจากรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น การบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดี และการเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/67

*เป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% รับแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอกได้ดี

ส่วนความเห็นที่ต้องการให้ทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ระดับ 1-3% นั้น นายปิติ กล่าวว่า ปกติในทุกปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง จะมีการหารือร่วมกันอยู่แล้ว ซึ่งแนวทางก็ยังคงเป็นเช่นนั้น และคงต้องดูว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะออกมาเป็นอย่างไร

นายปิติ กล่าวว่า การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อก็เพื่อช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีเครื่องยึดเหนี่ยว หรือสามารถคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อได้ในระยะปานกลาง เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการลงทุน การออม และการกู้ยืม ดังนั้น ธปท.ไม่ต้องการให้เงินเฟ้อในระยะปานกลางปรับขึ้นลงหรือผันผวนมาก เพราะจะสร้างความยากลำบากในการวางแผนต่อภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนด้วย

ปัจจัยระยะสั้นที่เข้ามาในแต่ละเดือน แม้จะทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่นอกกรอบบน หรือหลุดกรอบล่างไปบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ เมื่อเกิดช็อก หรือแรงกระแทกที่เป็นปัจจัยระยะสั้นเข้ามาแล้ว ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจยังมองแนวโน้มคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางว่าอย่างไร ถ้ามองว่ายังสามารถอยู่ในกรอบได้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพื่อที่ธนาคารกลางจะได้ไม่ต้องพยายามต่อสู้กับเงินเฟ้อเหมือนในต่างประเทศที่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับสูง 5-6%

ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาแรงเรื่องดอกเบี้ย เพื่อตอบสนองต่อเงินเฟ้อ จึงขึ้นอยู่กับว่า เงินเฟ้อคาดการณ์เป็นอย่างไร กรอบเป้าหมายสามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ขนาดใด และหากให้มองแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า ก็เชื่อว่าจะสามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้

ในภาพใหญ่ เงินเฟ้อไม่ได้เป็นประเด็นที่ต้องกังวลมาก แต่เราจะกังวลถ้าเงินเฟ้อสูงจนเป็นการเพิ่มภาระการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากกว่า นอกจากนี้ กนง.ไม่อยากให้เงินเฟ้อมีความผันผวนมาก เพราะจะสร้างความไม่แน่นอนกับการวางแผนของทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ จึงเห็นว่าแม้เงินเฟ้อรายเดือนจะปรับขึ้นลงหลุดกรอบเป้าหมายไปบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือแนวโน้มปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย

“ที่เรามีเป้าเงินเฟ้อไว้ 1-3% บททดสอบที่ดีมาก คือในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ จะเห็นว่าเงินเฟ้อที่มีแรงกระแทกที่มาจากภายนอก เช่น ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ที่ทำให้เงินเฟ้อของไทยขึ้นไปถึง 8% ในเดือนก.ย. 65 ก็เป็นบททดสอบว่า แม้เงินเฟ้อจะขึ้นไปสูงจากแรงกระแทกภายนอกประเทศ แต่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางไม่ได้ปรับขึ้นตาม ผลของเงินเฟ้อที่ขึ้นจากช็อค ก็จะค่อยลดลง เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมสามารถยึดเหนี่ยวตัวเงินเฟ้อได้แล้ว ต่อให้มีแรงกระแทกเข้ามา เราก็ไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นแรง เพื่อต้องพยายามฉุดให้เงินเฟ้อลง” นายปิติกล่าว

ทั้งนี้ ในเรื่องการพิจารณาอัตราเงินเฟ้อนั้น ต้องตระหนักว่าปัจจัยไหนคุมได้ และปัจจัยไหนอยู่นอกเหนือการควบคุม และการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อมาจากปัจจัยอะไรที่มีนัยต่อนโยบาย หรือไม่มีนัยต่อนโยบาย ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในการแยกแยะ “แก่น” ออกจาก “กระแส” ที่เข้ามา

พร้อมย้ำว่า การกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 1-3% เป็นเป้าหมายระยะปานกลาง และสอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทย และเอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามศักยภาพ ไม่สูงเกินไปจนสร้างปัญหาค่าครองชีพ หรือต่ำเกินไปจนทำให้ต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว

“เราทบทวนกันทุกปี แต่ในเมื่ออิงกับปัจจัยเชิงโครงสร้าง เราจึงไม่อยากปรับเปลี่ยนทุกปี ถ้าปรับเปลี่ยนทุกปี จะกระทบกับการคาดการณ์เงินเฟ้อ และจะสร้างความผันผวนไม่แน่นอนให้กับระบบด้วย” นายปิติ กล่าว

*ไม่ปิดกั้นทบทวนนโยบายดอกเบี้ย

นายปิติ ยังกล่าวด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันค่อนข้างเป็นกลาง ซึ่ง กนง.จะมาพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นในช่วงต่อ ๆ ไปว่าจะมีทิศทางอย่างไร และไม่ได้มีการปิดกั้นว่าดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันนี้จะเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยไปตลอด กนง.จะมีการอัพเดทสถานการณ์อยู่เสมอ

“ถ้าเป็นแรงกระแทกระยะสั้น เช่น อุปสงค์ที่แผ่วลง หรือเร่งขึ้นในระยะสั้น ก็ต้องดูว่าจะตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราก็คาดเดาไม่ได้ว่าช็อคจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เราจะพิจารณาได้ใกล้ ๆ คือ neutral ที่เราวางไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เทียบเคียงกับภาพจริงของเศรษฐกิจ จะเห็นชัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ว่าจะเป็นระดับที่ถูกต้อง เป็นระดับที่พอเหมาะหรือเปล่า ไม่มีการปิดกั้นในการทบทวนจุดยืน แต่ ณ จุดนี้ทุกอย่างในภาพใหญ่ ยังดำเนินไปตามภาพที่เรามองไว้” เลขานุการ ตอบคำถามถึงโอกาสที่ กนง.จะพิจารณาลดดอกเบี้ย

ปิดโรงงานไม่ใช่ประเด็นน่ากังวล ชี้ต้องมองรอบด้าน

นายปิติ ยังให้ความเห็นถึงสถานการณ์การปิดโรงงานเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมองว่า จะต้องพิจารณาในภาพใหญ่ให้ครบมุมของการเปิดและปิดกิจการ ซึ่งจะมีทั้งการเปิดและปิด โดยหากดูตัวเลขปิดกิจการจะพบว่าลดลงกว่าในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราการเปิดกิจการสูงกว่า หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ประมาณ 8%

ทั้งนี้ โดยภาพรวมจำนวนปิดกิจการน้อยกว่าปีก่อน และมีการเปิดกิจการมากกว่าปีก่อน และหากดูกระแสการเปิดและปิดในทุกเดือน จะพบว่า มีจำนวนการเปิดกิจการราว 4,000-5,000 แห่งต่อเดือน และปิดกิจการราว 1,000 แห่งต่อเดือน และหากดูจำนวนพนักงานจ้างใหม่สูงกว่าพนักงานที่ถูกปรับลดลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่หลายหมื่นคนต่อเดือน และเม็ดเงินการลงทุนยังคงเป็นบวกอยู่

“เราควรมองให้ครบรอบด้าน และทั้งในส่วนของการเปิดและปิดกิจการ โดยที่ผ่านมา สะท้อนการเปิดมากกว่าปิด ซึ่งเป็นกลไกเศรษฐกิจ อาจจะเป็นการย้ายโรงงานเพื่อไปหาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นพลวัตร และมีการเทิร์นโอเวอร์ อย่างไรก็ดี เรามองว่าตอนนี้ยังไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาในภาพใหญ่ของการปิดโรงงาน” นายปิติ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top