พิพากษายืนจำคุก “ฉลอง-ภูมิศิษฏ์-นาที” คดีเสียบบัตรแทนกัน ไม่รอลงอาญา

ศาลฎีกาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนให้จำคุก 3 อดีตสส.พรรคภูมิใจไทย โดยไม่รอลงอาญา กรณีเสียบบัตรแทนกันในการประชุมสภาผุ้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ในวาระที่ 2 และ 3 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำที่ทำลายความไว้วางใจของประชาชนและกลไกคุ้มครองความเป็นอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงกระทบต่อการปกครอง

คดีนี้มีนายฉลอง เทอดวีระพงศ์, นายภูมิศิษฏ์ คงมี และ นางนาที รัชกิจประการ เป็นจำเลยที่ 1-3 โดยจำเลยทั้งสามได้ร่วมกับบุคคลใดไม่ปรากฏชัด โดยให้ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่นหรือกระทำการหรือไม่กระทำการอื่นใด เป็นผลให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามแสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แทนจำเลยทั้งสาม

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นว่า การที่จำเลยทั้ง 3 ดำรงตำแหน่ง สส.มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่าง พ.ร.ป., ร่าง พ.ร.บ.ต่าง ๆ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยการตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป เป็นต้น โดย สส.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

การกำหนดให้การออกเสียงลงคะแนนกระทำโดยวิธีใช้บัตรอิเล็กทรอนิส์ประจำตัวในการแสดงตนและลงมติ เป็นวิธีการหนึ่งในการป้องกันมิให้การปฏิบัติหน้าที่ของ สส.ตกอยู่ภายใต้อาณัติของผู้ใด และช่วยให้ สส.นั้นสามารถใช้ดุลพินิจในขณะออกเสียงลงคะแนนได้อย่างมีอิสระ ดังนั้นการมอบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ประจำตัวให้บุคคลอื่นนำไปใช้ออกเสียงลงคะแนนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่ของ สส.นอกจากจะเป็นการทำลายความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อ สส.ผู้นั้นแล้ว ยังเป็นการทำลายกลไกคุ้มครองความเป็นอิสระทำให้การแสดงเจตจำนงแทนประชาชนถูกควบคุมหรือบิดเบือนโดยบุคคลซึ่งหวังประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่เป็นไปตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ทั้งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ถือเป็นกฎหมายสำคัญที่จะให้รัฐบาลนำเงินของแผ่นดินไปใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ผ่านความเห็นชอบหรือเกิดความล่าช้าจากสภาผู้แทนราษฎรย่อมส่งผลกระทบถึงการบริหารราชการแผ่นดินและเศรษฐกิจของประเทศ

แม้จำเลยทั้งสามอ้างกำหนดนัดที่มีก่อนวันนัดประชุมอันเป็นการขาดประชุมโดยมีได้ลาประชุมตามระเบียบและเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสามไม่อาจออกเสียงลงคะแนนก็เป็นความผิดส่วนหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสามกลับมอบบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของตนให้บุคคลอื่นแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทนอันเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นมา จำเลยทั้งสามในฐานะ สส.ย่อมทราบดีว่าการออกเสียงลงคะแนนในการตรากฎหมายเป็นการทำหน้าที่แทนปวงชนซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าภารกิจอื่น แต่จำเลยทั้งสามกลับละเลยหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนไปปฏิบัติงานอย่างอื่นโดยไม่ยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจนทำให้เกิดความด่างพร้อยต่อระบบรัฐสภา ทำให้เห็นเจตนาที่ไม่ชอบของจำเลยทั้งสามมากยิ่งขึ้น

แม้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การใช้สิทธิออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่อยู่ร่วมประชุมเป็นเหตุให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกำหนดคำบังคับให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณฯ เฉพาะการพิจารณาลงมติในวาระที่สอง วาระที่สาม และข้อสังเกตของ กมธ. ซึ่งต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าวก็ตาม นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าแล้วยังมีความเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าวใหม่ จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างมาก พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย เป็นการกระทำที่ไม่ชื่อสัตย์ต่อหน้าที่ทำให้ประโยชน์ส่วนรวมได้รับความเสียหาย ไม่ เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่และคำปฏิญาณที่ให้ไว้ และไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย

“ถือเป็นเรื่องร้ายแรงกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสามก็เพื่อให้จำเลยทั้งสามหลาบจำ เป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างกระทำความผิดเช่นนี้อีก

แม้ต่อมาจำเลยทั้งสามรู้สำนึกในการกระทำความผิด โดยให้การรับสารภาพและไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ทั้งได้กระทำคุณความดีต่อสังคมตามที่จำเลยทั้งสามอ้างก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสาม อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน” คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มิ.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top