ครม.รับทราบข้อเสนอเชิงนโยบายจัดการศึกษาแบบ Fast Track สำหรับบุคคลสมรรถนะสูง

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษารูปแบบ Fast Track สำหรับบุคคลที่มีสมรรถนะสูง ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ดังนี้

1. ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษารูปแบบ Fast Track สำหรับบุคคลที่มีสรรถนะสูง ได้แก่

– ควรมีหลักการในการจัดทำกรอบคุณวุฒิทางการศึกษา โดยกำหนดให้สมรรถนะเป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (Learning Outcomes)

– ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มสำหรับผู้มีสมรรถนะสูง และคนไทยทุกระดับ ให้เข้ารับการพัฒนา และเทียบระดับสมรรถนะ โดยมีการออกแบบเพื่อให้คนไทย Up-Skill และ Re-Skill ได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

2. ข้อเสนอเชิงนโยบายการเทียบระดับการศึกษา จัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ (Online) เพื่อแก้ไขสภาพปัญหาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีสมรรถนะสูง สามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่องทุกที่ทุกเวลา

นายคารม กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษารูปแบบ Fast Track สำหรับบุคคลที่มีสมรรถนะ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาศึกษาการดำเนินงาน ประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของผู้เรียนการศึกษานอกโรงเรียน และการเทียบประสบการณ์บุคคลที่มีสมรรถนะสูง สู่การศึกษาระบบ Fast Track ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ สรุปผลการพิจารณาว่า กรอบคุณวุฒิแห่งชาติครอบคลุมกรอบคุณวุฒิการศึกษาที่เน้นการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ตามสมรรถนะของบุคคล ทั้งคุณวุฒิทางการศึกษา และมาตรฐานอาชีพ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการจัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (ฉบับปรับปรุง) เพื่อใช้เป็นกลไกในการเชื่อมโยงระบบการเรียนรู้ของภาคการศึกษา ให้ยึดโยงกับมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ตลาดแรงงานยอมรับ

โดยได้จัดแผนปฏิบัติการด้านการผลิต และพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ.2562-2565 เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรม อันจะนำไปสู่การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ

 

  • นำร่องตั้งธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด

รวมถึงได้ทดลองนำร่องจัดตั้งธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด ใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อสร้างระบบการสะสม และการเทียบโอนหน่วยการเรียน ทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ ให้มีความยืดหยุ่น หลากหลาย ในช่วงวัยเรียน และวัยทำงาน โดยจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับได้อย่างสะดวก และง่ายต่อการดำเนินการ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top