นักวิจัยในสหรัฐได้พัฒนาเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ใช้ข้อมูลทางคลินิกตามปกติ เช่น จากการตรวจเลือดธรรมดา เพื่อคาดการณ์ว่าโรคมะเร็งของผู้ป่วยบางรายจะตอบสนองต่อยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immune checkpoint inhibitors) หรือไม่
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Cancer โดยระบุว่า โมเดล AI ดังกล่าวสามารถช่วยแพทย์ในการประเมินประสิทธิผลของยาภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษามะเร็งของผู้ป่วยได้
งานวิจัยยังระบุว่า โมเดล AI ดังกล่าวใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่อง โดยสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ตามลักษณะทางคลินิกทั่วไป 5 ประการที่รวบรวมจากผู้ป่วยอยู่เป็นประจำ ได้แก่ อายุของผู้ป่วย ประเภทของมะเร็ง ประวัติการรักษาอย่างเป็นระบบ ระดับอัลบูมินในเลือด และอัตราส่วนนิวโทรฟิลต่อลิมโฟไซต์ในเลือด
นอกจากนี้ โมเดล AI ดังกล่าวยังคำนึงถึงปริมาณการกลายพันธุ์ในก้อนมะเร็ง (TMB) ซึ่งโมเดล AI นี้ได้รับการพัฒนาและทดสอบโดยใช้ข้อมูลจากชุดข้อมูลอิสระหลายชุด ซึ่งรวมถึงผู้ป่วย 2,881 รายที่ได้รับการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่ใช้กับมะเร็งก้อนชนิดต่าง ๆ จำนวน 18 ชนิด
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐระบุว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาให้ครอบคลุมมากกว่านี้ เพื่อประเมินแบบจำลอง AI ในสถานพยาบาลเพิ่มเติม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 67)
Tags: AI, ปัญญาประดิษฐ์, มะเร็ง