กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ต่อสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.ย. 63 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 59,842 ราย เสียชีวิต 38 ราย โดยพบผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาค จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือแม่ฮ่องสอน รองลงมาคือระยอง นครราชสีมา และชัยภูมิ ส่วนกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยมากสุด 3 อันดับแรกคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี และ 25-34 ปี
โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ได้แก่ การมีโรคประจำตัว เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การมีภาวะอ้วน การไปพบแพทย์ช้า แพทย์วินิจฉัยครั้งแรกเป็นโรคอื่น และการมีประวัติรับประทานยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์”
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ได้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนและทุกหน่วยงาน ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและในชุมชน ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่
การปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา นอกจากนี้ ประชาชนสามารถป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้ โดยสวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ เช่น โลชั่นกันยุง ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่นๆ นอนในมุ้ง และหากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง มีผื่น มีรอยจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา เบื่ออาหาร จุกแน่นลิ้นปี่ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 63)
Tags: กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ยุงลาย, ไข้เลือดออก