ญี่ปุ่นกล่าวยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะสกัดการอ่อนค่าของเงินเยน ในระหว่างการประชุมผู้นำด้านการเงินของกลุ่ม G7 เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 12 ปีเมื่อไม่นานมานี้ ไม่สามารถยับยั้งการอ่อนค่าของเงินเยนได้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตอกย้ำถึงปัญหาที่ผู้กำหนดนโยบายการเงินของญี่ปุ่นต้องเผชิญ ในขณะที่ญี่ปุ่นพยายามสร้างสมดุลของการสกัดการอ่อนค่าของเงินเยนซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อการบริโภค ควบคู่ไปกับการรักษาต้นทุนการกู้ยืมให้ต่ำเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
รัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G7 ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันโดยย้ำถึงความมุ่งมั่นของกลุ่ม G7 ที่จะร่วมมือกันระมัดระวังไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความผันผวนมากเกินไป
ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากนายมาซาโตะ คันดะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่นกล่าวเมื่อวันศุกร์ (24 พ.ค.) ว่า ญี่ปุ่นพร้อมที่จะดำเนินการที่เหมาะสมในตลาดทุกเวลา เพื่อรับมือกับความเคลื่อนไหวที่มากเกินไปของค่าเงินเยน โดยออกคำเตือนเกี่ยวกับโอกาสที่จะมีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหม่
“หากเงินเยนผันผวนมากเกินไปซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ เราจำเป็นต้องดำเนินการ และการทำเช่นนั้นจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล ” นายคันดะเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว
ขณะเดียวกัน นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งเข้าร่วมการประชุม G7 ครั้งนี้ ส่งสัญญาณว่าการบริโภคที่ชะลอตัวหรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ พร้อมกับกล่าวว่า ตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นที่หดตัวในในไตรมาส 1/2567 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อมุมมองของ BOJ ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวในระดับปานกลาง
ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า BOJ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวตามการคาดการณ์ของ BOJ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 67)
Tags: BOJ, ค่าเงินเยน, ญี่ปุ่น, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, รัฐบาลญี่ปุ่น, เงินเยน