ตลาดอสังหาฯ Q1/67 ชะลอตามกำลังซื้ออ่อนแอ-ขาดแรงจูงใจ เก็งปีนี้ SIRI ยังรักษาแชมป์เบอร์ 1

นายสุรเชษฐ์ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ (Property DNA) กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส1/67 เป็นอีกช่วงเวลาที่ยากลำบากของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายราย เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาตลอดในช่วงก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่เข้ามาเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของคนไทย แต่ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอีกหลายรายยังคงมีการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ 3 อันดับแรกในธุรกิจอสังหาฯ

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิในไตรมาส 1/67 แล้ว จะพบว่ามีเพียงบมจ.แสนสิริ (SIRI) ที่มีผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 โดยเฉพาะในส่วนของรายได้ถือเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่มีรายได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิมากเป็นอันดับ 1 ด้วยเช่นกัน อยู่ที่ 1.31 พันล้านบาท ทิ้งห่างอันดับที่ 2 มากพอสมควร

ด้านมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่ประกาศออกมาเมื่อช่วงวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสัญญาณบวกที่ดีซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัย แต่อาจจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในช่วงไตรมาส 2/67 เป็นต้นไป ทำให้รายได้และกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1/67 เกิดจากการดำเนินการของผู้ประกอบการแต่ละรายผ่านการจัดโปรโมชั่น หรือแคมเปญส่งเสริมการขายของแต่ละบริษัทเท่านั้น ทำให้คนท่มองหาซื้อที่อยู่อาศัยยังขาดแรงจูงใจ ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อเพื่อรอดูสถานการณ์และทิศทางของรัฐบาลก่อนในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา

ส่วนการขยายเพดานของมูลค่าที่อยู่อาศัยที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้จากเดิมเพียงแค่ 3 ล้านบาท ขึ้นไปถึง 7 ล้านบาท/ยูนิต ทำให้ครอบคลุมสินค้าถึง 85% ของตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นที่คาดการณ์กันว่าจะทำให้เกิดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 67 มากกว่าปีก่อนราว 5-6% และส่งผลให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1.8% ซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกอบการแต่ละรายน่าจะมีมาตรการทางการตลาดควบคู่ไปด้วย ส่วนผู้ประกอบการที่สร้างรายได้เข้ามาแล้วในระดับสูงอย่างแสนสิริก็มีโอกาสที่จะครองอันดับที่ 1 ไปจนถึงสิ้นปี 67 ต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการทุกรายยังมีโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นในปีนี้จากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลและการฟื้นตัวของกำลังซื้อที่มีแนวโน้มเริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง

ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 67 ถือเป็นปีที่ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้ความระมัดระวังในการบริหารจัดการความเสี่ยงของตนเอง และบริหารจัดการสต็อกคงค้างในส่วนของบริษัทให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาล อีกทั้งยังต้องบริหารการเปิดขายโครงการใหม่ให้ต่อเนื่อง รวมทั้งยังต้องมีการบริหารความเสี่ยงในส่วนของกำลังซื้อหรือผู้ที่สนใจจะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองด้วย

“จะเห็นว่าผู้ประกอบการหลายรายได้เริ่มออกมาตรการและนโยบายมาช่วยเหลือผู้ซื้อ ทั้งในเรื่องของการให้ความรู้ ทำความเข้าใจขั้นตอนและกระบวนการในการขอสินเชื่อจากธนาคาร รวมไปถึงการทำ Pre-Approve ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการเซ็นสัญญาซื้อ-ขาย และการให้เช่าอยู่ก่อนซื้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหลายรายให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในปีนี้” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top