นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยสถานการณ์ปาล์มน้ำมันในปีนี้ (ข้อมูลพยากรณ์ ณ 26 มี.ค.67)
– เนื้อที่ให้ผล 6.381 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 2.13% จากปีก่อนที่มีเนื้อที่ให้ผล 6.248 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้น 132,959 ไร่
– ผลผลิต 18.121 ล้านตัน ลดลง 0.80% จากปีก่อนที่ให้ผลผลิต 18.267 ล้านตัน หรือลดลง 146,471 ตัน
– ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลเฉลี่ย 2,840 กิโลกรัม/ไร่ ลดลง 2.87% จากปีก่อนที่ให้ผลเฉลี่ย 2,924 กิโลกรัม/ไร่ หรือลดลง 84 กิโลกรัม/ไร่
สำหรับเนื้อที่ให้ผลภาพรวมทั้งประเทศคาดว่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ เนื่องจากปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่เมื่อปี 2564 ทดแทนยางพารา และบางส่วนขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันแทนพื้นที่นาและพื้นที่รกร้าง ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้ การขยายเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมันเมื่อปี 2564 มาจากราคาปาล์มน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ดี
ด้านผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลและผลผลิตรวมทั้งประเทศคาดว่าลดลง เนื่องจากช่วงปลายปี 2565 จนถึงเดือน พ.ค.66 ต้นปาล์มน้ำมันได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ทำให้ทางใบบางส่วนพับ ต้นปาล์มน้ำมันไม่สมบูรณ์ การออกทะลายที่จะเก็บในปี 2567 ลดลง และในช่วงเดือน พ.ย.66 จนถึงต้นปี 67 คาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำหนักต่อทะลายลดลง
อย่างไรก็ตาม ผลผลิตปีนี้จะออกสู่ตลาดมากสุดตั้งแต่เดือน มี.ค.-มิ.ย.ประมาณ 38% ของผลผลิตทั้งหมด โดยเดือน พ.ค.คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณ 1.694 ตัน ขณะที่ราคาผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายคละที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.เฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.12 บาท
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนเกษตรกร ร่วมเป็นอนุกรรมการ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด ราคา อย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการให้ปริมาณน้ำมันปาล์มภายในประเทศเกิดความสมดุล รวมถึงกำหนดแนวทางและมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้เฝ้าระวังและมีแนวทางในช่วงเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีแผนการปิดดำเนินการในช่วงวันหยุดของเดือน เม.ย. เพื่อไม่ให้มีการกระจุกตัวในการรับซื้อผลผลิตของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มช่วงก่อนและหลังวันหยุด และมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบโดยทั่วกัน รวมทั้งขอความร่วมมือให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่นำผลผลิตมาจำหน่ายให้แก่โรงงานโดยตรงเป็นลำดับแรก และพิจารณาจัดช่องทางพิเศษสำหรับเกษตรกรแยกออกจากผู้ประกอบการลานเท รวมถึงรับซื้อผลปาล์มน้ำมันในราคาที่สอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มดิบและไม่ให้มีการกดราคาหรือปฏิเสธการรับซื้อผลปาล์มของเกษตรกร โดยให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีการติดตามและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยย้ำให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงเรื่องการทำปาล์มคุณภาพ เพื่อไม่ให้อัตราสกัดน้ำมันลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันของเกษตรกรและต้นทุนในการผลิตของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 67)
Tags: กนป., คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ, ฉันทานนท์ วรรณเขจร, น้ำมันปาล์ม, สศก., สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, เอลนีโญ