นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 1/67 บริษัทฯ มีรายได้ทั้งสิ้น 23,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% และมีกำไรสุทธิ 864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 (QoQ) ตามลำดับ สะท้อนความก้าวหน้าในแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการได้ตามเป้าหมาย เดินหน้าขยายกำลังผลิตไฟฟ้า โดยโครงการ โกลว์ เอสพีพี 2 และไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์ ระยะที่ 3 ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว
ผลการดำเนินการของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) มีปริมาณการขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเดียวกับที่รายได้ สามารถสะท้อนต้นทุนพลังงานได้ดีขึ้น และผลการดำเนินงานของบริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (AEPL) ประเทศอินเดียที่ปรับตัวสูงขึ้นตามจำนวนโครงการที่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์และปัจจัยด้านฤดูกาล แม้ว่าบริษัทฯ จะได้รับส่วนแบ่งกำไรของบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ลดลงจากปริมาณน้ำลดลง
เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 กำไรสุทธิ ลดลง 23% เนื่องจาก margin ที่ลดลงของโรงไฟฟ้าศรีราชา หลังโรงไฟฟ้าศรีราชาเดินเครื่องโดยใช้ดีเซลเป็นเชื้อเพลิงหลักแทนก๊าซธรรมชาติลดลง ตามแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ. นอกจากนี้ บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เพิ่มขึ้น จากปัจจัยค่าไฟฟ้าที่สะท้อนต้นทุนราคาพลังงานได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า
สำหรับความก้าวหน้าของแผนการขับเคลื่อนธุรกิจและการขยายกำลังผลิต ในช่วงไตรมาสแรกจนถึงปัจจุบัน เป็นไปตามแผนงาน โดยโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 2 ภายใต้โครงการ SPP Replacement ด้วยกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ผลิตไอน้ำได้ 230 ตันต่อชั่วโมง และโครงการไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์ จำกัด ระยะ ที่ 3 กำลังการผลิตไฟฟ้า 70 เมกะวัตต์ ได้เริ่ม COD แล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ หุ้นกู้ มูลค่าการเสนอขาย 15,000 ล้านบาทของ GPSC ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมในการเสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่
ส่วนกลยุทธ์ New S-Curve ล่าสุด บริษัทได้ลงนามศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ SMR (Small Modular Reactor) ขนาดเล็ก ร่วมกับพันธมิตรซึ่งมีศักยภาพและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีจากประเทศเดนมาร์ก เพื่อแสวงหาโอกาสทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสะอาดใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจหลัก บริษัทฯ ยังมุ่งมั่น เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในกระบวนการผลิต หรือ Optimization โดยให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเป็นอันดับแรก หรือ merit order เพื่อให้ต้นทุนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการดำเนินการด้าน Synergy เพื่อให้การบริหารสินทรัพย์มีประสิทธิภาพสูงสุด และสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 67)
Tags: GPSC, วรวัฒน์ พิทยศิริ, หุ้นไทย, โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่