ไฟแรง! รมว.ท่องเที่ยวป้ายแดง มอบนโยบายเร่งด่วน ดันรายได้แตะ 3.5 ล้านลบ.

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยหลังจากเข้ารับตำแหน่งว่า การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงฯ จะต้องดำเนินการทั้งด้านการท่องเที่ยวและกีฬา โดยทำให้ท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาทต่อปี และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว (Tourism Hub)

*ด้านท่องเที่ยว

โจทย์ คือ การหารายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้เวลาล่วงมาแล้ว 4 เดือน ยังมีเป้าหมายที่จะต้องทำอีกมาก จึงได้มอบนโยบายเร่งด่วนด้านการท่องเที่ยว ดังนี้

1. การส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วง Low season ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ย. เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อน จะต้องมีการส่งเสริมการตลาดเชิงรุกไปยังกลุ่มประเทศที่ได้รับ VISA FREE โดยให้มีการทำ Package ที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น การตรวจสุขภาพ งานแต่งงาน การท่องเที่ยวของกลุ่ม LGBTQ+ (กลุ่มข้ามเพศ) กลุ่มความเชื่อมูเตลู กลุ่มแฟนคลับของไอดอลไทย หรือเกาหลี หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่พำนักในประเทศไทยและมีค่าใช้จ่ายต่อหัวมากขึ้น

2. วันหยุดยาวของประเทศจีน (Golden week) ช่วงวันที่ 1-7 ต.ค. จะต้องคิดแคมเปญ หรืออีเว้นท์ใหม่ๆ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวชาวจีน

3. ในช่วง High season ระหว่างเดือนต.ค.-ก.พ. ก็จะต้องคิดแคมเปญ หรืออีเว้นท์ใหม่ๆ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ซึ่งหนีหนาวมาเที่ยวเมืองไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะวางแผนการท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงนี้

4. การหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ การท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว (เมืองรอง) พัฒนาแหล่งเที่ยวแบบโฮมสเตย์ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ และเป็นการใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม ซึ่งจะได้มีการรีบหารือกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อไป

อย่างไรก็ดี จะต้องมีการคำนึงถึงความยั่งยืนและการรักษาความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย

*ด้านกีฬา

ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนด้านการกีฬา เพื่อมุ่งส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จด้านการกีฬาอาชีพ และสมัครเล่น ควบคู่ไปกับการขยายการเข้าถึงการออกกำลังกายของประชาชนเพื่อรักษาสุขภาพ

1. การผลักดันให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ จะต้องทำให้ “กีฬาคืออาชีพ” นักกีฬาสามารถดำรงชีวิตและสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองได้ โดยผลักดันผ่านสโมสรกีฬาและสมาคมกีฬาต่างๆ

2. การนำกีฬามาช่วยขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ การสร้างศูนย์กลางกีฬา (Sport Hub) ในระดับภูมิภาค การกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว (Sport Tourism) การสร้าง World Class Event เช่น กอล์ฟ วิ่งมาราธอน ไตรกีฬา เรือใบ และ E-Sport เป็นต้น

3. การส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ ลดความเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่ติดต่อ (Non Communicable Diseases: NCD) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคไตวาย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการลดภาระด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยการปลูกฝังจิตสำนึกในการออกกำลังกาย การสร้างสนามกีฬา ลานกีฬา และพื้นที่สีเขียว เพื่อการออกกำลังกายให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และการส่งเสริมธุรกิจเพื่อการออกกำลังกาย (Fitness Center)

อย่างไรก็ดี การผลักดันนโยบายท่องเที่ยวและกีฬา จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและบุคลากรของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล และความโปร่งใสในการปฏิบัติงานด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top