ราคากาแฟโรบัสต้าระหว่างประเทศพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยถูกกดดันจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย การบริโภคกาแฟที่เพิ่มสูงขึ้นในเอเชีย และความนิยมทุเรียนในประเทศจีน
“สถานการณ์ยากลำบากเนื่องจากราคาเมล็ดกาแฟและไข่แพงขึ้น” ตัวแทนจากร้านคาเฟ ซาง (Cafe Giang) ในกรุงฮานอยเมืองหลวงของเวียดนามระบุ โดยร้านกาแฟแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องกาแฟไข่ที่ทำจากกาแฟโรบัสต้าผสมกับไข่ แต่ต้นทุนที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเงินของร้านอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ร้านกาแฟแห่งนี้ระบุว่าจะไม่ขึ้นราคากาแฟ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 35,000 ด่อง (1.38 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อแก้ว ซึ่งถูกกว่าราคากาแฟสตาร์บัคส์ประมาณครึ่งหนึ่ง “เราไม่สามารถขึ้นราคาได้โดยง่ายเมื่อคิดถึงลูกค้าขาประจำที่แวะเวียนมาอุดหนุนตั้งแต่รุ่นคุณปู่” ดังนั้นทางร้านจึงขายขนมอบและเมล็ดกาแฟเสริมเพื่อแก้ปัญหาทางการเงิน
กาแฟโรบัสต้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในกรุงลอนดอนพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปลายเดือนเม.ย. โดยทะลุ 4,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และแม้หลังจากนั้นราคากาแฟโรบัสต้าจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังสูงกว่าเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา
เวียดนามเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกและเป็นผู้ผลิตกาแฟโรบัสต้ารายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ปัจจุบันมีเกษตรกรเวียดนามจำนวนมากขึ้นหันไปปลูกทุเรียนแทน เนื่องจากเป็นผลไม้ราคาสูงที่ได้รับความนิยมในจีนอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนทะลุ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าตัวจากปีก่อนหน้า และคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นอีกในปีนี้
รายงานระบุว่า การที่เกษตรกรเวียดนามหันไปปลูกทุเรียนทำให้พื้นที่เพาะปลูกกาแฟลดน้อยลง ซึ่งลดผลผลิตกาแฟ
ขณะที่องค์การกาแฟนานาชาติระบุว่า การผลิตกาแฟของเวียดนามรวมทั้งหมดอยู่ที่ 29.2 ล้านถุง (ถุงละ 60 กิโลกรัม) ระหว่างเดือนต.ค. 2565 ถึง ก.ย. 2566 ซึ่งลดลง 9.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ผู้ขายเมล็ดกาแฟรายหนึ่งในนครโฮจิมินห์ทางภาคใต้ของเวียดนามระบุว่า “อากาศร้อนเกินไปและมีน้ำไม่เพียงพอ ดังนั้นกาแฟจึงเติบโตได้ไม่ดีนัก” โดยเธอทำสัญญากับไร่แห่งหนึ่งในจังหวัดดั๊กนง แต่ต้นกาแฟเหี่ยวเฉาเนื่องจากเกิดภัยแล้งยืดเยื้อ
มารูเบนิ บริษัทค้าขายทั่วไปของญี่ปุ่นระบุว่า อีกปัจจัยที่หนุนให้ราคากาแฟแพงคือบริษัทใหญ่ในยุโรปและสหรัฐเปลี่ยนจากการใช้กาแฟไฮเอนด์อย่างอาราบิก้า ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มาเป็นกาแฟโรบัสต้าที่ราคาย่อมเยาเพื่อรับมือกับปัญหาต้นทุนการขนส่งและพลังงานที่แพงขึ้น
นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การบริโภคที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ก็มีส่วนหนุนให้ราคากาแฟแพงขึ้นเช่นกัน โดยการบริโภคกาแฟในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 44.5 ล้านถุงระหว่างเดือนต.ค. 2565 ถึง ก.ย. 2566 ซึ่งคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของการบริโภคทั้งโลกและเพิ่มขึ้น 12% จากช่วง 4 ปีก่อนหน้า ขณะที่การบริโภคกาแฟทั่วโลกเติบโตเพียง 1% ในช่วงเวลาเดียวกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 67)
Tags: กาแฟ, เวียดนาม, โรบัสต้า