บริษัทเอ็มดีเอช (MDH) และบริษัทเอเวอเรสต์ (Everest) ผู้ผลิตเครื่องเทศของอินเดียกำลังเผชิญการตรวจสอบในหลายประเทศ เนื่องจากพบการปนเปื้อนในระดับสูงของสารกำจัดศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และเกิดขึ้นไม่ถึง 1 ปีหลังจากที่ยาน้ำแก้ไอที่ผลิตในอินเดียมีส่วนเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กกว่า 140 รายในแอฟริกา
สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียรายงานว่า ประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐ กำลังดำเนินการตรวจสอบเครื่องเทศบรรจุหีบห่อของทั้งสองบริษัท หลังจากที่ฮ่องกงได้สั่งระงับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว
ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้สั่งเรียกคืนเครื่องเทศผสมของเอเวอเรสต์เมื่อปี 2566 และผลิตภัณฑ์ของเอ็มดีเอชบางส่วนในปี 2562 เนื่องจากพบการปนเปื้อนของเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella)
ศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหารของฮ่องกง (CFS) ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ว่า ได้ตรวจพบเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง หากบริโภคในปริมาณสูง ในเครื่องเทศบรรจุหีบห่อของเอ็มดีเอชจำนวน 3 รายการ และ 1 รายการของเอเวอเรสต์ พร้อมระบุเสริมว่า ได้เรียกคืนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและนำออกจากชั้นวางจำหน่ายแล้ว
หลังจากผ่านไม่กี่สัปดาห์ สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (SFA) ได้สั่งเรียกคืนมาซาลา เครื่องเทศผสมสำหรับแกงปลาของเอเวอเรสต์ โดยระบุในแถลงการณ์ว่า ผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับคำแนะนำไม่ให้บริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
SFA ระบุเสริมว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องนั้นถูกนำเข้ามายังสิงคโปร์ SFA จึงได้สั่งให้ผู้นำเข้าในสิงคโปร์เรียกคืนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่า แม้การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนเอทิลีนออกไซด์ในระดับต่ำจะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในทันที แต่การได้รับสารดังกล่าวในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพได้
ด้านคณะกรรมการบริหารเครื่องเทศของอินเดีย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลการส่งออกเครื่องเทศระบุว่า ขีดจำกัดที่ยอมรับได้สำหรับเอทิลีนออกไซด์นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษและนอร์เวย์จำกัดไว้ที่ 0.02 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของเครื่องเทศ ส่วนแคนาดาและสหรัฐจำกัดไว้ที่ 7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
สารกำจัดศัตรูพืชถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในการเกษตรของอินเดีย ซึ่งมักก่อให้เกิดการตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหาร ตัวเลขคาดการณ์ของรัฐบาลอินเดียระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น 33.4% จากปีงบประมาณ 2561 ถึงปีงบประมาณ 2565 โดยครอบคลุมพื้นที่ 108,216 เฮกตาร์ หรือประมาณ 7 เท่าของพื้นที่เพาะปลูกที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชทางชีวภาพ
อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงและสิงคโปร์ไม่ได้เปิดเผยปริมาณสารเอทิลีนออกไซด์ในผลิตภัณฑ์ที่เรียกคืน ส่วนทางเอ็มดีเอชและเอเวอเรสต์ ยังไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความคิดเห็นใด ๆ
บริษัทวิจัยโกลบอล เทรด รีเสิร์ช อินิชิเอทีฟ (GTRI) ระบุในรายงานเมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) ว่า การตรวจสอบในสหรัฐ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ก่อให้เกิดคำถามในตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่มีมูลค่าประมาณ 700 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ทางการยุโรปก็ได้ตรวจสอบอาหารอินเดียอย่างเข้มงวดเช่นกัน โดยระบบเตือนภัยสินค้าด้านอาหารของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) คาดการณ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ผลิตภัณฑ์อาหารของอินเดียถือเป็นความเสี่ยงที่ “ร้ายแรง” ใน 166 กรณี ซึ่งรวมถึง 9 กรณีที่ตรวจพบเอทิลีนออกไซด์ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องเทศในประเทศต่าง ๆ เช่น สวีเดน กรีซ และอิตาลี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 67)
Tags: สารปนเปื้อน, อินเดีย, เครื่องเทศ