นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (1 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม
พร้อมนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดชลบุรี เพื่อไปติดตามความก้าวหน้าการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน
โดยในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีรับขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้นโยบาย PPP Fast Track ของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระบบรางของไทย
สำหรับในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อเป็นประธานการประชุมแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยรับฟังรายงานสรุปโครงการท่าเรือบก (Dry Port) ท่าเรือแหลมฉบัง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภายใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน พร้อมทั้งเป็นประธานการประชุมกับนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ เช่น บมจ.ปตท. (PTT) Mitsubishi Motor (Thailand) QMB Co., Ltd เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการลงทุนใน EEC ในยุค New Normal
“แนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (PPP) การเชื่อมโยงอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมทั้ง โครงการท่าเรือบก (Dry Port) ท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นความก้าวหน้าในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสู่การขนส่งสินค้าด้วยระบบราง มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค (กลุ่มประเทศ CLMV) นักลงทุนไทยและต่างประเทศเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ร่วมกับภาครัฐ นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้แก่นักลงทุนไทยและต่างประเทศ มุ่งสู่การลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ อีกด้วย”
นายอนุชา กล่าว
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีรับขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นผู้กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ในรูปแบบ PPP Net Cost ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พร้อมเยี่ยมชมขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในช่วงเที่ยง
ด้านน.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ต.ค. บีโอไอร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อ EEC จำนวน 16 ราย อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องจักรกลขั้นสูง เคมีภัณฑ์ขั้นสูง โลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรม ร่วมประชุมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสตรวจเยี่ยมพื้นที่เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักลงทุนในพื้นที่ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
“การพัฒนาพื้นที่อีอีซีเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยบีโอไอมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษสำหรับพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการเป้าหมาย สร้างมูลค่าเพิ่มและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย”
น.ส.ดวงใจ กล่าว
เมื่อเดือนมกราคม 2563 บีโอไอได้ออกแพ็คเกจใหม่เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้ดึงดูดการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยปรับสิทธิประโยชน์และเพิ่มประเภทกิจการเป้าหมายให้ครอบคลุมกว้างขึ้น ได้แก่
- (1) กิจการในกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี ตามสิทธิพื้นฐานเกือบทุกประเภท (กลุ่ม A1, A2, A3) ยกเว้นกิจการบางกลุ่ม เช่น กิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการชัดเจน กิจการที่มีเงื่อนไขบังคับเรื่องที่ตั้งสถานประกอบการซึ่งไม่อยู่ใน 3 จังหวัดอีอีซี เป็นต้น
- (2) กิจการในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ได้แก่ ไบโอเทค นาโนเทค วัสดุขั้นสูง และดิจิทัล
- (3) กิจการที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลได้มีการกำหนดเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมใน 2 ทางเลือก ได้แก่ เกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเกณฑ์ที่ตั้ง โดยสามารถเลือกดำเนินการทั้งสองเกณฑ์ควบคู่กันเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุด หรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งก็ได้ โดยจะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติที่ได้รับตั้งแต่ 1-3 ปี แล้วแต่กรณี
ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.63) การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมีจำนวนทั้งสิ้น 225 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรีจำนวน 120 โครงการ เงินลงทุน 39,990 ล้านบาท จังหวัดระยองจำนวน 76 โครงการ เงินลงทุน 33,320 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุน 12,170 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 63)
Tags: EEC, คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, ดวงใจ อัศวจินตจิตร์, ดิสทัต โหตระกิตย์, ท่าเรือแหลมฉบัง, บีโอไอ, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, รถโมโนเรล, รถไฟฟ้า, ลงพื้นที่, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, อธิรัฐ รัตนเศรษฐ, อนุชา บูรพชัยศรี, อนุทิน ชาญวีรกูล, อนุพงษ์ เผ่าจินดา, อุตสาหกรรม