นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือนมี.ค. ยอดผลิตรถยนต์ลดลง 23.08% ยอดขายลดลง 29.83% ยอดส่งออกลดลง 3.35% ขณะที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2,965% ส่วนขายรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ลดลง 28.38%
ยอดส่งออกลด จับตาสถานการณ์ความขัดแย้ง
ส่วนจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือน มี.ค.67 มีทั้งสิ้น 138,331 คัน ลดลง 23.08% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลดลงของการผลิตรถกระบะและรถยนต์นั่งเพื่อขายในประเทศถึง 41.01% เนื่องจากมาตรการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศยังมีไม่มาก เพราะโรงงานผลิตรถยนต์บางบริษัทยังไม่พร้อม คาดว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสที่ 3 แต่เพิ่มขึ้น 3.47% จากเดือน ก.พ.67 ขณะที่รถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วงไตรมาสแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 414,123 คัน ลดลง 18.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ยอดผลิตลดลงตามยอดขายในประเทศ กำลังดูว่าปีนี้จะผลิตได้ตามเป้า 1.9 ล้านคันหรือไม่”
นายสุรพงษ์ กล่าว
*ยอดขายวูบเป็นผลจากความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ
ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน มี.ค.67 มีจำนวนทั้งสิ้น 56,099 คัน ลดลง 29.83% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินจากหนี้ครัวเรือนที่สูงมากและเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เพราะความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้าไปหลายเดือน ทำให้การใช้จ่าย การลงทุน และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชะลอตัวไปด้วย ซึ่งคาดว่าครึ่งปีหลังยอดขายรถยนต์จะดีขึ้นจากการใช้จ่ายการลงทุนและการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลร่วมกับการลงทุนของเอกชนและการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นมากกว่า 33 ล้านคน ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกมียอดขาย 163,756 คัน ลดลง 24.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ยอดขายรถกระบะตกลงมาก โดยมีสัดส่วนน้อยกว่ารถยนต์นั่ง เนื่องจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่ลดลงราว 50%”
นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในเดือนมี.ค. ทั้งยอดผลิตรถยนต์ ยอดขาย ยอดส่งออก ลดลง แต่ปีนี้ยังคงเป้าหมายตามเดิมทั้งการผลิตที่ 1.9 ล้านคัน การส่งออก 1.15 ล้านคัน และขายในประเทศ 7.5 แสนคัน แต่จับตายอดขายในประเทศที่ลดลงจากมาตรการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีน่าจะดีขึ้นหลังมีการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ
*ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงลดลงหลังจบมาตรการ EV3.5
- ประเภท BEV จดทะเบียนใหม่ 7,436 คัน ลดลง 19.91% จากเดือน มี.ค.ปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคเร่งจดทะเบียนภายในกำหนดเวลาเพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการ EV3.5 ในการลดภาษีสรรพสามิตคันละ 1.5 แสนบาท ส่วนช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 29,714 คัน เพิ่มขึ้น 41.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดจดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 161,352 คัน เพิ่มขึ้น 203.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ประเภท HEV จดทะเบียนใหม่ 11,980 คัน เพิ่มขึ้น 35.70% จากเดือน มี.ค.ปีก่อน เนื่องจากค่ายรถออกรถรุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กและราคาลดลงต่ำกว่าเดิม ส่วนช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 38,114 คัน เพิ่มขึ้น 55.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดจดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 381,400 คัน เพิ่มขึ้น 34.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ประเภท PHEV จดทะเบียนใหม่ 876 คัน ลดลง 25.64% จากเดือน มี.ค.ปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเรื่องความไม่พร้อมของสถานีชาร์จ ส่วนช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีจดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 2,710 คัน ลดลง 20.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดจดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 56,644 คัน เพิ่มขึ้น 23.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 67)
Tags: การส่งออก, ส.อ.ท., ส่งออกรถยนต์, สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์