WMO เผยเอเชียได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหนักสุดในปี 66

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดเผยในรายงานฉบับล่าสุดเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) ว่า เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากที่สุดในปี 2566 อันเป็นผลจากสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และอันตรายจากน้ำ โดยพายุและน้ำท่วมส่งผลกระทบหนักที่สุด

รายงานดังกล่าวระบุว่า เอเชียมีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากน้ำท่วม พายุ และคลื่นความร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้น

หลายพื้นที่ของภูมิภาคนี้ประสบกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดในปี 2566 โดยเอเชียมีอุณหภูมิใกล้พื้นผิว (near-surface temperature) เฉลี่ยทำสถิติสูงสุดเป็นอันดับสอง สูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2534-2563 อยู่ 0.91 องศา ขณะที่อุณหภูมิร้อนเป็นพิเศษในไซบีเรียตะวันตกจนถึงเอเชียกลาง และจากจีนตะวันออกจนถึงญี่ปุ่น ส่วนญี่ปุ่นและคาซัคสถานประสบกับปีที่ร้อนที่สุด

รายงานระบุว่า เทือกเขาอาระกันของเมียนมาและบริเวณตอนล่างของแม่น้ำโขงก็มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ในขณะที่จีนตะวันตกเฉียงใต้ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยมีระดับฝนตกต่ำกว่าปกติเกือบทุกเดือนในปี 2566

แม้ปริมาณฝนตกโดยรวมจะลดลง แต่ก็มีเหตุการณ์สภาพอากาศร้ายแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น ฝนตกหนักในเมียนมาในเดือนพ.ค. น้ำท่วมและพายุหมุนทั่วอินเดีย ปากีสถาน และเนปาลในเดือนมิ.ย.และก.ค. ฝนที่ตกต่อเนื่องยาวนานที่สุดในฮ่องกงในเดือนก.ย. และเหตุการณ์อื่น ๆ

รายงานระบุว่าตั้งแต่ปี 2513-2564 มีภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และน้ำที่ร้ายแรงจำนวน 3,612 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 984,263 ราย และมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเอเชียครองสัดส่วนคิดเป็น 47% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่มีการรายงานว่าเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก โดยมีพายุหมุนเขตร้อนเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 67)

Tags: ,
Back to Top