นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งพัฒนาเทคโนโลยีขยายขนาดการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยานจากยีสต์ ซึ่งเป็นการต่อยอดผลสำเร็จจากการวิจัยพบยีสต์สายพันธุ์ที่มีศักยภาพสูงในการผลิตไขมันเพื่อนำมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน โดยในกระบวนการผลิตน้ำมันจากยีสต์นั้น ได้ใช้ของเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมาเป็นอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ ซึ่งนับเป็นการลดปัญหาจากเผาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเหลือทิ้งภาคการเกษตรเช่นเดียวกัน
คณะนักวิจัยนำโดยศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ จุฬาลักษณานุกูลและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชมภูนุช กลิ่นวงษ์จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินโครงการวิจัย “การพัฒนาเทคโนโลยีการขยายขนาดการผลิตน้ำมันจากยีสต์เพื่อสังเคราะห์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน” ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมีการร่วมมือกับนิสิตปริญญาเอกจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ จำนวน 3 คน และกลุ่มนักวิจัยจีน
“คณะผู้วิจัยประสบความสำเร็จในการคัดแยกยีสต์ชนิด Saccharomyces cerevisiae ที่มีศักยภาพในการสะสมไขมันสูง สายพันธุ์ CU-TPD4 และได้นำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ชีวภาพ เพื่อรองรับความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต หากเราสามารถพัฒนาศักยภาพของประเทศในด้านการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ จะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปด้วย”
ศ.ดร.วรวุฒิ กล่าวถึงความความสำเร็จและเป้าหมายของการวิจัย
นอกจากจะได้พลังงานที่สะอาดกว่าพลังงานฟอสซิลแล้ว กระบวนการเลี้ยงยีสต์เพื่อผลิตน้ำมันยังเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน และลดปัญหามลพิษทางอากาศที่มาจากการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร จากการนำของเหลือทิ้ง เช่น เศษกระดาษสำนักงาน และน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม มาใช้เป็นแหล่งคาร์บอนเช่นเดียวกัน โดยมีจุดประสงค์หลักในการลดต้นทุนการผลิต เพื่อกำจัดของเสีย และเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้งดังกล่าวให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
ศ.ดร.วรวุฒิ กล่าวว่า นอกจากการผลิตไบโอดีเซลและเชื้อเพลิงอากาศยานแล้ว การปรับปรุงสายพันธุ์ของยีสต์สะสมไขมันให้สามารถผลิตกรดไขมัน เช่น กรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันชนิดที่มีความต้องการในตลาดและมีมูลค่าสูง ยังสามารถใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้านอาหาร เครื่องสำอาง และยา ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจทางด้าน Life Science อย่างยั่งยืนได้อีกด้วย
งานวิจัยนี้ได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น Hamburg University of Technology (TUHH) ประเทศเยอรมนี และ Toulouse Biotechnology Institute (TBI) ประเทศฝรั่งเศส ที่เห็นโอกาสในการขยายการผลิตหัวเชื้อยีสต์ CU-TPD4 เพื่อใช้ในการผลิตน้ำมัน ควบคู่กับการผลิตขนมปัง แอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้านอาหาร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 67)
Tags: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, น้ำมันเชื้อเพลิง, ยีสต์