สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองจากสวีเดน เปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านกลาโหมทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 15 ปี ท่ามกลางสงครามในยุโรปและตะวันออกกลาง ขณะที่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเพิ่มงบประมาณกลาโหมสูงสุดในรอบทศวรรษ ซึ่งประจวบกับสถานการณ์ความตึงเครียดในไต้หวัน
SIPRI ระบุในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ (22 เม.ย.) ว่า การใช้จ่ายด้านกลาโหมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้น 6.2% ในปี 2566 แตะ 4.11 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี
รายงานระบุว่า “ประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งมองว่าอำนาจทางการทหารที่เพิ่มขึ้นของจีนเป็นเหตุผลที่ต้องยกระดับขีดความสามารถทางทหารของตน”
ส่วนจีนได้จัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมไป 2.96 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 ซึ่งมากสุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐ ซึ่งทุ่มงบประมาณถึง 9.16 แสนล้านดอลลาร์
เม็ดเงินดังกล่าวส่งผลให้งบประมาณของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) เพิ่มขึ้น 6% เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นครั้งที่ 29 แล้วเมื่อเทียบรายปี
อย่างไรก็ดี SIPRI ประเมินการใช้จ่ายทางทหารของจีนสูงกว่าตัวเลขที่กระทรวงการคลังจีนประกาศไว้ที่ 1.55 ล้านล้านหยวน (2.24 แสนล้านดอลลาร์) โดย SIPRI ระบุว่า ตัวเลขประมาณการดังกล่าวนั้นครอบคลุมค่าใช้จ่ายในประเภทอื่น ๆ ที่จีนไม่ได้จัดว่าเป็นการใช้จ่ายทางทหาร
SIPRI ระบุว่า ตัวเลขการใช้จ่ายทั้งหมดของจีนคิดเป็น 12% ของการใช้จ่ายด้านกลาโหมทั่วโลก และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในเอเชียและโอเชียเนีย
สำหรับญี่ปุ่นนั้น การใช้จ่ายด้านกลาโหมเมื่อปี 2566 ก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยญี่ปุ่นมีแผนจะทุ่มงบ 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐกับกองทัพในระหว่างปี 2566-2570 เพื่อเสริมศักยภาพด้านการโจมตีตอบโต้ผ่านการลงทุนในเครื่องบิน เรือ และขีปนาวุธพิสัยไกล
ส่วนการใช้จ่ายด้านกลาโหมของไต้หวันเพิ่มขึ้น 11% ในปี 2566 แตะ 1.66 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 67)
Tags: SIPRI, กระทรวงกลาโหม, สงคราม, สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม, สันติภาพ, เอเชียตะวันออก, ไต้หวัน