นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาคำร้องที่สมาชิกรัฐสภาลงมติเสียงข้างมากให้ตนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากเป็นเพียงข้อสงสัย ยังไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ต้องทำประชามติก่อน
“หากจะแก้ทั้งฉบับ ต้องทำประชามติก่อนว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ หรือจะแก้มาตรา 256 ที่มีบทกำหนด อาทิ เกี่ยวกับอำนาจศาล องค์กรอิสระ หรือบางข้อต้องนำไปทำประชามติก่อน ดังนั้นต้องปฏิบัติตาม” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปลอดภัย น่าจะเป็นไปตามที่นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ระบุไว้ว่า รัฐบาลต้องดำเนินการทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องถามประชาชน 3 รอบจึงจะปลอดภัย ซึ่งเสียเวลา และงบประมาณ แต่หากทำสองรอบ อาจจะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
“เมื่อชัดเจนแล้ว อย่าทำอะไรตามคิดเอง เพราะมีกรอบคำวิจิจฉัยและรัฐธรรมนูญกำหนด และศาลรัฐธรรมนูญให้ไทม์ไลน์ เส้นทางแก้รัฐธรรมนูญต้องทำอะไรก่อนหลัง หากทำโดยไม่ตรงกับคำวินิจฉัยจะเสียเวลา ศาลรัฐธรรมนูญจะตีตก หากมีเวลาทำให้ดีที่สุด เพราะประชาชนอยากให้แก้ไข และเป็นนโยบายของรัฐบาลและพรรคการเมือง แต่ทำให้ถูกต้อง อาจจะไม่พอใจ แต่ต้องเลือกเส้นทางที่เดินไปได้ หากไม่ทำประชามติก่อนแล้วมีคนส่งไปตีความอีก จะเสียเวลา” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
กรณีมีข้อเสนอให้ทบทวนการบรรจุวาระแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลเสนอต่อรัฐสภานั้น ต้องรอให้มีคนเสนอร่างแก้ไขเข้ามาก่อน หากเกี่ยวกับประเด็นที่ต้องทำประชามติ ก็ต้องทำประชามติก่อน แต่หากไม่มีประเด็นที่ต้องทำประชามติก่อน ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ที่เสนอมาก่อนหน้านี้นั้น เป็นร่างที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ซึ่งเคยตีตกแล้ว แต่จะเสนอกลับมาได้ เพราะเป็นคนละสมัยประชุม เช่น กรณีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญที่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 สภาต้องพิจารณาว่าบรรจุได้หรือไม่
“จะบรรจุหรือไม่ ผมพูดล่วงหน้าไม่ได้ เพราะต้องรอดูว่าเป็นร่างที่เหมือนเดิม หรือร่างที่ปรับปรุง สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ต้องให้ที่ปรึกษาด้านกฎหมายพิจารณาประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากจะถามตอนนี้ว่าทบทวนหรือไม่ ยังพูดไม่ได้ สถานการณ์ต้องเปลี่ยนไป” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 67)
Tags: ประธานสภาผู้แทนราษฎร, รัฐธรรมนูญ, วันนอร์, วันมูหะมัดนอร์ มะทา, ศาลรัฐธรรมนูญ