ปัญหาการลักลอบขนย้ายกากอุตสาหกรรมที่มีสารแคดเมียมและสังกะสีออกจากพื้นที่ฝังกลบในจังหวัดตากไปยังพื้นที่ต่างๆ สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนไม่น้อย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งติดตามค้นหาจนพบที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดชลบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ แต่ยังไม่ครบเต็มจำนวน 1.5 หมื่นตันนั้น
กรณีดังกล่าวสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นว่าปัญหาเกิดจากกฎหมายมีช่องโหว่ ซึ่งควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เกิดความรัดกุมมากยิ่งขึ้น และถึงเวลาที่จะนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบสถานะของกากอุตสาหกรรม (Mass Balance) ที่ต้องมีปริมาณต้นน้ำและปลายน้ำที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะกากอุตสาหกรรมที่มีพิษต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันมีกากอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการสามารถกำจัดและดูแลได้ราว 80%
“ถ้าจะไม่ให้เกิดปัญหาการลักลอบขนย้ายก็ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางแบบเรียลไทม์ ส่วนกฎหมายที่ใช้อยู่ก็ปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่ออุดช่องโหว่”
นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.กล่าว
ที่ผ่านมา ส.อ.ท.พยายามขับเคลื่อนกลไกที่จะสร้างมาตรฐานให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริม BCG ของรัฐบาล โดยมีผู้ประกอบการที่ได้ตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานแล้ว 16 ราย จากสมาชิกที่มีอยู่ 80 ราย ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งหมดได้รับมาตรฐานรับรองภายในปี 2568 ขณะที่ทั่วประเทศมีผู้ประบการอยู่ราว 200-300 ราย
ทั้งนี้ ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งหากสามารถควบคุมดูแลจะสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 67)
Tags: กากแคดเมียม, สารพิษ, สารเคมี, แคดเมียม