ศาล รธน. เล็งขยายเวลา ก้าวไกลแจงคดียุบพรรค ยันไม่มีธงตัดสิน

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เผยอาจขยายเวลาให้พรรคก้าวไกลในการส่งเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอให้วินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคออกไปอีก 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.67 หลังครบกำหนดเวลา 15 วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถมีคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวได้ภายในเดือน เม.ย.นี้

“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้ขยายได้อีก 15 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนนี้ ซึ่งจะเป็นการประชุมขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดีพรรคก้าวไกลในสิ้นเดือนเมษายนนี้”

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว

โดยการขยายเวลาในการส่งเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้นขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของศาลฯ ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม และยังไม่รู้ว่าจะมีการยื่นคำร้องขอให้เปิดการไต่สวนด้วยหรือไม่ ซึ่งจะสามารถรับฟังพยานเพิ่มเติมได้อีก ส่วนตัวก็อยากรับทราบว่าบุคคลต่างๆ ที่จะเข้าไต่สวนนั้นมีรายละเอียดอย่างไร

ส่วนกระแสข่าวเกี่ยวกับคำวินิจฉัยที่ออกมานั้นเป็นที่คาดเดา และเป็นการพิจารณาจากข้อกฎหมายคนละมาตรา หากเปรียบเทียบคดีระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคไทยรักษาชาติ โดยเฉพาะโทษทางการเมืองนั้นก็ยังมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน และตัวแสดงทางการเมือง หรือตัวแสดงในคดี ก็ไม่ใช่ตัวแสดงเดียวกัน

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถูกสังคมและนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่วิจารณ์แล้วทำให้บ้านเมืองสงบ เป็นที่ยอมรับ บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะตนก็ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นอย่างเต็มที่ แต่จะต้องเป็นไปโดยสุจริต และไม่เป็นการดูถูกเหยียดหยามองค์กรตุลาการ อย่าใช้คำหยาบคาย เพราะจะมีโทษตามกฎหมาย

ส่วนแรงกระแทกจากสังคมกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ และแสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ เพราะข้อขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ลดลง หากพรรคการเมืองสามารถตกลง เจรจากันได้ในสภา คดีก็จะไม่มาถึงศาล แต่เมื่อสภาตัดสินใจยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา จึงแสดงให้เห็นว่า ศาลเป็นที่พึ่ง และศาลพร้อมรับฟังข้อโต้แย้งของทั้ง 2 ฝ่าย และพิจารณาตามข้อกฎหมาย แล้วจึงตัดสินใจ ขอยืนยันว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีธงในการตัดสินและการวินิจฉัยคดี ที่จะชี้ขาดได้เพียงซ้ายหรือขวา ชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น แตกต่างจากการเขียนคำตอบเชิงวิชาการ ที่คำตอบสามารถออกมาได้หลายมุม ทำให้สังคมมองว่าศาลฯ มีธง ทั้งที่ตุลาการก็มีการถกเถียงกันมากพอสมควร

สำหรับการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญตลอด 26 ปีที่ผ่านมาได้บรรลุวัตถุประสงค์พอสมควรระดับหนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2540 2550 2557 2560 แม้จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามวิกฤตบ้านเมือง แต่กติกาและโครงสร้างทางการเมืองยังเหมือนเดิม เช่นเดียวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป บางอย่างหายไปบ้าง เช่น อำนาจการยุบพรรคการเมืองของศาลฯ กรณีไม่ส่งบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำปี แต่ไม่มีผลกระทบและมีอำนาจให้ประชาชนเพิ่มขึ้น เช่น การร้องโดยตรงถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top