PODCAST: SET ต.ค.อ่วมเกมยื้อแก้รธน. “ASL” แนะจังหวะช้อนของถูก !!

 “Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (28 ก.ย.-2 ต.ค.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 28 กันยายน 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (21-25 ก.ย.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,244.94 จุด ลดลง 3.4% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ลดลง 7% รองลงมาคือกลุ่มปิโตรเคมี ลดลง 6.6% และสุดท้ายคือกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ลดลง 4.1%

สำหรับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ส่งท้ายเดือนกันยายน ก่อนย่างเข้าสู่ไตรมาส 4 ของปี 2563 อย่างเป็นทางการ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ต่างยังคงเฝ้าระวังความเสี่ยงกับปมปัญหาทางการเมืองภายในประเทศที่ยังคงความร้อนระอุ กดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยหวนกลับสู่แนวโน้มขาลงตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่าสถานการณ์การชุมนุมครั้งล่าสุด ณ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 กันยายน นำโดยกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย จะไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น แต่การแสดงออกทางการเมืองทั้งฟากฝั่งของรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม กลับเริ่มส่งสัญญาณความร้อนระอุมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากการที่รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบตั้งกรรมาธิการ เพื่อศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ และกำหนดกรอบการพิจารณาทั้งสิ้น 30 วัน กลับสร้างความไม่พอใจให้กับทางกลุ่มผู้ชุมนุม กลายเป็นชนวนของการนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ เป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญที่นักวิเคราะห์ต่างเฝ้าระมัดระวังกันอย่างใกล้ชิด เพราะหากยกระดับความรุนแรงเหมือนกับเหตุการณ์ในอดีต มีโอกาสที่นักลงทุนอาจถึงขั้นปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงภายใต้สถานการณ์ที่ยังไม่มีความแน่นอน

นอกจากปัจจัยการเมืองที่มีผลต่อตลาดหุ้นไทยแล้ว อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่น่าจับตาคือการเคลื่อนย้ายเม็ดเงิน ภายหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เตรียมกลับมาใช้เกณฑ์ปกติของการชอร์ตเซล และการเปลี่ยนแปลงราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป อาจเพิ่มความผันผวนให้กับภาพรวมของตลาดได้ในช่วงสั้น

นายธวัชชัย อัศวพรไชย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล ประเมินภาพรวม SET INDEX รอบสัปดาห์นี้มีโอกาสปรับตัวลดลงและอาจต่อเนื่องไปถึงเดือนตุลาคม เนื่องจากตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยบวกใหม่สนับสนุนและได้รับแรงกดดันจากปัญหาการเมืองในประเทศ ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มหันมาโฟกัสปัจจัยแนวโน้มผลประกอบการเป็นหลัก ทำให้ในระยะสั้นอาจมีผลโดยตรงต่อทิศทางราคาหุ้นเป็นรายตัวได้เช่นกัน

“แนวโน้มตลาดหุ้นไทยจากนี้มีโอกาสปรับตัวลดลงไปทดสอบแนวรับสำคัญที่เราวางไว้คือ 1,225 จุด แต่เป็นจังหวะที่ดีของกลยุทธ์การลงทุนระยะปานกลางเป็นโอกาสสะสมหุ้นที่ดีมีพื้นฐานเข้าพอร์ต ส่วนเทรดระยะสั้น ก็ใช้กลยุทธ์ลงซื้อขึ้นขายตามกรอบต่อไป แต่ต้องใช้ความระวังด้วยเพราะหากดัชนียังไม่ผ่าน 1,255 จุดก็มีความเสี่ยงที่จะแกว่งตัวขาลงต่อไป”

นายธวัชชัย กล่าว

ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่ที่ 31.30-31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯโดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การดีเบตครั้งแรกของคู่ชิงประธานาธิบดีสหรัฐ และการเจรจาดีล Brexit ระหว่างยุโรปและอังกฤษขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคลและ Core PCE Price Indexเดือนส.ค. รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/63 (final) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.ย.ของจีน และปัจจัยทางการเมืองของไทยด้วยเช่นกัน

ตลอดสัปดาห์ที่แล้วเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินในภูมิภาคประกอบกับตลาดรอติดตามปัจจัยทางการเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิดขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกหลังข้อมูล PMI เดือนก.ย. ของสหรัฐฯ และยูโรโซนมีสัญญาณอ่อนแอรวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรป อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทจำกัดลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ขณะที่ตลาดรอติดตามหลายปัจจัยสำคัญในสัปดาห์ถัดไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top