ปธน.ฟิลิปปินส์สั่งเพิ่มการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเล ท่ามกลางข้อพิพาทกับจีน

ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ผู้นำฟิลิปปินส์ ได้สั่งการให้รัฐบาลเสริมสร้างการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเล เพื่อเผชิญกับ “ความท้าทายร้ายแรงหลายประการ” ที่คุกคามต่อบูรณภาพแห่งดินแดนและสันติภาพ ท่ามกลางข้อพิพาทกับจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คำสั่งดังกล่าว ซึ่งลงนามเมื่อวันจันทร์ (25 มี.ค.) และเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวันอาทิตย์ (31 มี.ค.) ไม่ได้ระบุถึงจีนโดยตรง แต่เกิดขึ้นหลังจากการเผชิญหน้าทางทะเลระหว่างสองประเทศหลายครั้ง รวมถึงการกล่าวหาซึ่งกันและกันเกี่ยวกับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้

ทางด้านจีนอ้างอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด โดยที่ทะเลแห่งนี้เป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี การอ้างสิทธิ์ของจีนทับซ้อนกับการอ้างสิทธิ์ของฟิลิปปินส์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน ทว่าเมื่อปี 2559 ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรได้ตัดสินว่าการอ้างสิทธิ์ของจีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย

ความขัดแย้งครั้งล่าสุดปะทุขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อหน่วยยามฝั่งจีนยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูงใส่เรือพลเรือนที่กำลังลำเลียงเสบียงให้กับทหารที่บริเวณสันดอนโทมัสที่ 2 ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ตัวเรือและทำให้ลูกเรือบางรายได้รับบาดเจ็บ

“แม้เราจะพยายามส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยในอาณาเขตทางทะเลของเรา แต่ฟิลิปปินส์ก็ยังคงเผชิญกับความท้าทายร้ายแรงหลายประการที่คุกคามบูรณภาพแห่งดินแดน รวมถึงการดำรงอยู่อย่างสงบสุขของชาวฟิลิปปินส์ด้วย” ปธน.มาร์กอสกล่าว

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (28 มี.ค.) ปธน.มาร์กอสให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างสมน้ำสมเนื้อและสมเหตุสมผลต่อ “การโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บีบบังคับ ก้าวร้าว และอันตราย” โดยหน่วยยามฝั่งและกองกำลังติดอาวุธทางทะเลของจีนในทะเลจีนใต้

ปธน.มาร์กอสได้ออกคำสั่งเพื่อขยายและปรับโครงสร้างคณะกรรมการด้านกิจการทางทะเลของรัฐบาล โดยได้เพิ่มที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ที่ปรึกษาทางกฎหมายของรัฐ หัวหน้าหน่วยงานประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ และคณะทำงานเฉพาะกิจด้านทะเลจีนใต้เข้ามาด้วย

คำสั่งดังกล่าวดูเหมือนจะขยายบทบาทของกองทัพ โดยระบุชื่อกองทัพทุกเหล่าทัพของฟิลิปปินส์ให้เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สนับสนุนคณะกรรมการด้านกิจการทางทะเล ไม่ใช่แค่กองทัพเรือเท่านั้น

คณะกรรมการด้านกิจการทางทะเลแห่งชาติที่ได้รับการปรับโครงสร้างใหม่จะเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างกรอบการทำงานที่ “เป็นหนึ่งเดียว ประสานงานกัน และมีประสิทธิภาพ” สำหรับความมั่นคงทางทะเลและการรับรู้สถานการณ์ในเขตแดนทางทะเลของฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ ปธน.มาร์กอสได้เพิ่มจำนวนหน่วยงานที่สนับสนุนคณะกรรมการฯ จากเดิม 9 แห่ง เป็น 13 แห่ง ซึ่งรวมถึงหน่วยงานอวกาศและสถาบันกิจการทางทะเลและกฎหมายทะเลแห่งมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top