ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLM อาจจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปริมาณผลผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะที่การมองหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศดังกล่าว หรือแม้แต่การหันไปใช้พืชอื่นทดแทน อาจจะต้องพิจารณาในเรื่องของต้นทุน รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการของวัตถุดิบอาหารสัตว์แต่ละประเภทที่แตกต่างกัน
ปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยในปี 67 คาดว่าจะขยายตัวราว 5.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเกือบ 100% เป็นการนำเข้าจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา (CLM) โดยมองว่า การลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศ CLM ยังเป็นเรื่องยากจากปริมาณผลผลิตในประเทศที่ยังไม่เพียงพอ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ยังคงเติบโตตามภาคปศุสัตว์ ไทยมีความต้องการใช้อาหารสัตว์เฉลี่ยปีละ 20 ล้านตัน ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่และสุกร ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบที่มีสัดส่วนความต้องการสูงเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับพืชอาหารสัตว์อื่นๆ โดยปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยปีละ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เองราว 4-5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ประเทศไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คิดเป็นสัดส่วนราว 25% ของปริมาณการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด และเป็นการนำเข้าจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา (CLM) เกือบ 100% โดยเฉพาะเมียนมาที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึง 93%
อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าหดตัวเนื่องจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยประสบปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการเลี้ยงจากต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น และบางส่วนหันไปนำเข้าพืชทดแทนอย่างข้าวสาลีเพิ่มขึ้นจากราคาที่ปรับลดลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยในปี 67 อยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านตัน ขยายตัวที่ราว 5.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่หดตัว 9.8% โดยเหตุผลที่นำเข้าเพิ่มขึ้นเนื่องจาก
– ความต้องการใช้อาหารสัตว์ของไทยคาดว่าจะขยายตัวตามภาคปศุสัตว์ สะท้อนจากปริมาณการผลิตสินค้าหมวดปศุสัตว์อย่างสุกรและไก่เนื้อในปี 67 ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
– พืชทดแทนอย่างข้าวสาลียังมีราคาแพงกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ในปี 66 ราคานำเข้าจะปรับลดลงมาใกล้เคียงกัน แต่คาดว่าในปีนี้ ราคานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะปรับลดลงจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมียนมาที่ คาดว่าผลผลิตในปี 67 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 8% (USDA) ขณะที่ปริมาณการนำเข้าข้าวสาลีอาจมีข้อจำกัดตามมาตรการ 3:1 จากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศที่ลดลง
– การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศ CLM อยู่ภายใต้ความตกลง ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA) ทำให้ผู้นำเข้าได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งต่ำ จึงมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 67)
Tags: ข้าวโพด, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย