Decrypto: Investment Token ที่ได้รับยกเว้นภาษี คือ Token แบบใด

พระราชกำหนดธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 กำหนดให้มีรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลหลายรูปแบบ เช่น คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ นั้น เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดของ Investment Token ที่หัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก จึงอาจเป็นที่สงสัยสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลว่า Investment Token นั้นมีลักษณะและมีความแตกต่างจากสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ อย่างไร

ตามพระราชกำหนดดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการพิจารณาลักษณะหรือคุณสมบัติของสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดให้มีลักษณะของดิจิทัลโทเคน (Digital Token) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เพื่อ (1) กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการหรือสิทธิอื่น ๆ ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคนหรือที่เรียกว่า Utility Token หรือ (2) กำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือที่เรียกว่า Investment Token

กล่าวคือ Investment Token จะมีความคล้ายคลึงกับหลักทรัพย์ที่เป็นการกำหนดสิทธิของบุคคลที่ร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการต่าง ๆ อาจจะได้สิทธิในการเป็นเจ้าของและโอกาสในการรับผลตอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลตอบแทนทางการเงิน

Investment Token จะมีความเสี่ยงในการลงทุนที่มากกว่าการลงทุนใน Utility Token หรือในบางกรณีก็อาจมีความเสี่ยงที่มากกว่าการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีสกุลหลัก ๆ ก็ด้วยเหตุที่โอกาสในการทำกำไรหรือขาดทุนจะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของผู้บริหารโครงการ หรือหลักทรัพย์อ้างอิงนั้น ๆ ดังนั้น แล้ว Investment Token จึงถูกควบคุมอย่างเข้มงวด โดยถูกจำแนกให้เป็นหลักทรัพย์ที่จะต้องถูกตรวจสอบและต้องผ่านการพิจารณาในหลายขั้นตอนก่อนที่จะถูกเสนอขายในตลาด

จึงเห็นได้ว่า Investment Token เป็นเครื่องมือหนึ่งในการระดมทุนของผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมีทางเลือกในการระดมทุนที่เพิ่มมากขึ้น การกำหนดให้มีเงินได้ ซึ่งได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนนั้น สามารถเลือกไม่นำเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดนั้นมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการเป็นศูนย์กลางการระดมทุนเพิ่มขึ้นกว่าหมื่นล้านบาท ส่งผลดีต่อการระดมทุน การลงทุน และการจ้างงานในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top