ผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ ติดสปีด 5 ภารกิจใหญ่ สร้างความมั่นคงไฟฟ้า-ราคาแข่งขันได้

ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” เดินหน้า 5 ภารกิจใหญ่ให้ระบบไฟฟ้าไทยมั่นคง พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน มุ่งแสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือก ภายใต้ราคาค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้ และเป็นธรรม

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. แถลงแนวทางการดำเนินงาน และแนวทางการบริหารงาน หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 โดยระบุว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ

1. การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องเผชิญความท้าทาย ทั้งจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนสูง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ กฟผ. จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก อาทิ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจ ในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง

2. บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศ และพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า LNG เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า ส่วนประชาชนที่เสียประโยชน์ ควรได้รับการชดเชย

นอกจากนี้ กฟผ. ยังสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้

3. การออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจน ซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง

โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย

4. สำหรับกรณีนโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ. ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ในเบื้องต้นจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถดำเนินการได้ทันที

5. กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ และรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ. ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง

“กฟผ. เป็นกลไกของรัฐ เพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ” ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าว

นายเทพรัตน์ ยังกล่าวถึงงบลงทุนปีนี้ว่า กฟผ. เตรียมไว้ที่ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้สำหรับโครงการที่อยู่ในแผน ได้แก่ การปรับปรุงระบบสายส่ง โซลาร์ลอยน้ำ เป็นต้น สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสาน ระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ

ซึ่งตามแผน PDP ฉบับเดิม ที่อนุมัติให้ กฟผ. อยู่ที่ 2,700 เมกะวัตต์ ได้ติดตั้งไปแล้ว 2 เขื่อน ได้แก่ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด แห่งที่ 2 เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิตไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์

ส่วนโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่เหลือ ทาง กฟผ.เตรียมเสนอเข้าบอร์ด กฟผ. เพื่อทำตามแผน PDP ฉบับเดิมไปก่อน แต่หากแผน PDP ฉบับใหม่มีการปรับปรุง ก็พร้อมปฏิบัติตาม

“การติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ มีความยากเพิ่มขึ้นในบางเขื่อนที่น้ำลึก ดังนั้นในส่วนของเขื่อนสิรินธร ซึ่งทำแล้ว 45 เมกะวัตต์ แต่ศักยภาพสามารถขยายได้ถึง 1,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นในเขื่อนที่ทำยากและมีต้นทุนที่สูงขึ้น จึงขอเปลี่ยนตำแหน่งไปก่อน ซึ่งต้องคุยภาคนโยบายให้ชัดเจนก่อน” ผู้ว่าการ กฟผ. ระบุ

สำหรับสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้า ของ กฟผ. ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งยังคงต้องการสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยแผน PDP ฉบับใหม่ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น แต่พบว่าขณะนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศยังอยู่ในระดับสูง ทำให้คาดว่าจะยังไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่ม

สำหรับสภาพคล่องของ กฟผ.ที่ต้องแบกรับค่าไฟ ซึ่งในส่วนนี้เริ่มดีขึ้นจากราคาค่าก๊าซที่ปรับตัวลดลง ทำให้ กฟผ. มีโอกาสได้คืนกลับมาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ แม้ว่าภาครัฐจะตึงค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาท/หน่วย แต่ก็คุ้มค่าก๊าซ ด้วยทำให้ภาพรวมดีขึ้น สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องของ กฟผ.ได้ ปัจจุบันมีสภาพคล่องอยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาครัฐกำหนดคือชำระหนี้ แบ่งเป็น 7 งวด ทำให้คาดว่าจะสามารถชำระได้ครบภายใน 2 ปีกว่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มี.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top