การเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่งกับบรรดามหาเศรษฐีระดับโลกกลายเป็นจุดสนใจอีกครั้ง หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเปิดเผยว่า เขาจะดำเนินมาตรการ “ภาษีมหาเศรษฐี” ใหม่กับเหล่าผู้มั่งคั่งของสหรัฐ หากได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกครั้งในการเลือกตั้งเดือนพ.ย.
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ร่างงบประมาณประจำปี 2568 ที่ได้รับการยื่นเสนอเมื่อวันจันทร์ (11 มี.ค.) เผยให้เห็นว่า ปธน.ไบเดนเจาะจงไปที่กลุ่มคนรวย และเน้นย้ำแผนการเก็บภาษีในอัตรา 25% สำหรับชาวสหรัฐที่มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์
ปธน.ไบเดนกล่าวเมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) ว่า “ไม่ควรมีมหาเศรษฐีคนไหนจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าครู เจ้าหน้าที่สุขาภิบาล หรือพยาบาล”
แผนดังกล่าวอยู่ในร่างงบประมาณฉบับปี 2567 มาก่อนแล้ว และได้รับความสนใจเป็นพิเศษอีกครั้งในปีนี้ ในขณะที่รัฐบาลทั่วโลกยังคงแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการจัดการกับปริมาณเงินสาธารณะที่ลดน้อยลงและจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันด้านความมั่งคั่ง
เมื่อเดือนที่แล้ว ที่ประชุมสุดยอดของบรรดารัฐมนตรีคลังในกลุ่ม G20 ซึ่งจัดขึ้นที่บราซิลระบุว่า พวกเขากำลังสำรวจแผนต่าง ๆ ในการเก็บภาษีขั้นต่ำทั่วโลกสำหรับมหาเศรษฐี 3,000 รายทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่า บรรดาผู้มั่งคั่ง 0.1% เสียภาษีในระดับที่ยุติธรรมต่อสังคม
แนวคิดเหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเหล่าผู้มั่งคั่งบางส่วนอีกด้วย โดยในช่วงต้นปี 2567 เครือข่าย “เศรษฐีผู้รักชาติ” (Patriotic Millionaires) ได้ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงบรรดาผู้นำโลก โดยเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งในบรรดาผู้ลงนาม 260 ราย รวมถึงนางแอบิเกล ดิสนีย์ ทายาทของดิสนีย์ และไบรอัน ค็อกซ์ นักแสดงชื่อดังจากซีรีส์ “Succession”
นายฟิล ไวท์ เจ้าของธุรกิจที่เกษียณอายุแล้วและหนึ่งในผู้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกของกลุ่มเศรษฐีผู้รักชาติ กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า “นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้มีฐานะมั่งคั่งที่ตอบแทนสังคมมากขึ้น คนที่รวยมากทำประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้น และภาคภูมิใจที่ได้ทำเช่นนั้น”
อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้เชี่ยวชาญยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันในเรื่องของประสิทธิภาพของภาษีความมั่งคั่งและความสำเร็จของนโยบายเมื่อใช้จริง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 67)
Tags: ภาษี, สหรัฐ, เลือกตั้ง, โจ ไบเดน