เงินบาทเปิด 35.42 ทรงตัวหลังไร้ปัจจัยใหม่ ตลาดจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐคืนนี้

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 35.42 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดเย็น วานนี้ที่ระดับ 35.41 บาท/ดอลลาร์

เงินบาททรงตัวจากปิดตลาด ส่วนสกุลเงินในภูมิภาคเคลื่อนไหวแบบไร้ทิศทาง ทั้งแข็งค่าและอ่อนค่า โดยเมื่อคืนยังไม่มีปัจจัย ใหม่เข้ามา ภาพใหญ่ตลาดรอติดตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ คืนนี้

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.35 – 35.50 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

– เงินเยน อยู่ที่ระดับ 146.95 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 146.51 เยน/ดอลลาร์

– เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0931 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0937 ดอลลาร์/ยูโร

– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 35.431 บาท/ดอลลาร์

– สนค. กางปัจจัยหนุน-ปัจจัยท้าทายการลงทุน 5 ประเทศในอาเซียน ชมเปาะระบบนิเวศไทยเอื้อต่อการลงทุนอุตสาห กรรมยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ห่วง FTA ยังน้อย แถมเข้าสู่สังคมคนแก่โดยสมบูรณ์ หวั่นมีผลต่อจำนวนแรงงานในอนาคต แนะแก้เกมเร่งเจรจาจับคู่ตลาดยุโรป ยกระดับแรงงาน

– บีโอไอลุยเปิดทางหนุนอุตฯ อีวี ดึงค่ายรถยนต์บริษัทไทยร่วมมือกันสู่ซัพพลายเชน พร้อมจัดกิจกรรมสร้างโอกาสซื้อขายชิ้น ส่วนในประเทศ ยกระดับประเทศไทยสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโลก

– ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (11 มี.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้หรือไม่

– สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (11 มี.ค.) โดยปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 8 ขานรับกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในวันนี้ เพื่อหา สัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

– นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนี CPI ประจำเดือนก.พ.ของสหรัฐในวันนี้ และดัชนี PPI ประจำเดือนก.พ.ในวันพฤหัสบดี เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก่อนที่การประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดจะมีขึ้นในวันที่ 19-20 มี.ค.

– ผลการสำรวจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก พบว่า คาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในระยะเวลา 1 ปี ข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 3.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้

– ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 19-20 มี.ค.

– นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือน เม.ย.นี้ อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์เกือบทุกรายมีความเห็นตรงกันว่า มีความเป็นไปได้ที่ BOJ อาจจะยุติการใช้นโยบายดังกล่าวในการ ประชุมสัปดาห์หน้า (18-19 มี.ค.)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มี.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top