บลจ.วรรณ ปักธงดัน AUM ปี 67 แตะ 1.7 แสนลบ.ลุ้นคลอดกองบิทคอยน์-รุกขยายลูกค้า PVD

นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. วรรณ คาดว่าในปี 67 มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 1.7 แสนล้านบาท จากปี 66 มี AUM อยู่ที่ 1.62 แสนล้านบาท โดยธุรกิจกองทุนรวมจะเพิ่มขึ้นอีก 5 พันล้านบาท จาก 6 หมื่นล้านบาทในปีก่อน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพิ่มอีก 5,000 ล้านบาทจาก 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ บลจ.วรรณตั้งเป้าธุรกิจกองทุนรวมจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในช่วง 1-2 ปีนี้จากปีก่อนอยู่ที่ 40%

ในปี 67 บลจ.วรรณมีแผนออกกองทุนใหม่ 6 กอง โดยได้ออกกองทุน Life Sattlement ที่เน้นลงทุนในกรมธรรม์ประกันชีวิตในตลาดรองของประเทศสหรัฐ 2 กองที่รองรับการ Rollover ของกองทุนเดิมที่ครบกำหนดแล้วซึ่งมีผลตอบแทนสูง 8%ต่อปี

นอกจากนี้ จะมีกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกด้วย โดยขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่งการพิจารณานำเสนอกองทุนทางเลือกประเภทใหม่ โดยเน้นธีมผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่ำ หรือกองทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั่วไป

บริษัทยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในบิทคอยน์ ซึ่งจะจัดตั้งเป็นกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนที่ขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนรายใหญ่ (UI) เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทเคยยื่นขอจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนบิทคอยน์ 100% เสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วแต่ ก.ล.ต.ไม่อนุมัติ ขณะนั้นราคาบิทคอยน์อยู่ที่ราว 17,000 ดอลลาร์ จนล่าสุดพุ่งไปถึง 67,000 ดอลลาร์แล้ว ทำให้เสียโอกาสในการลงทุน แต่การยื่นขอครั้งใหม่ต้องรอลุ้นว่า ก.ล.ต.จะอนุมัติหรือไม่ แต่หากอนุญาตก็คาดว่าจะให้ลงทุนในบิทคอยน์ไม่เกิน 20% ของมูลค่ากองทุน

นายพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเสนอขายกองทุนในสินทรัพย์หลัก อาทิ ตราสารทุน ตราสารหนี้ ปีนี้บริษัทมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อปัจจัยเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจมีความผ่อนคลาย และกลายเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น และอัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งช่วยลดแรงกดดันการใช้นโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าวได้อย่างดี

ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีที่ผ่าน บลจ.วรรณ มี AUM ณ เดือน ธ.ค.66 เติบโตขึ้นมาที่ 1.62 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจากธุรกิจกองทุนรวมอยู่ประมาณ 40% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 20% และกองทุนส่วนบุคคลประมาณ 40% บริษัทยังคงคำแนะนำให้จัดพอร์ตเน้นกระจายสินทรัพย์ในการลงทุนในทุกๆ ประเภท (Asset Allocation) โดยเน้นวางกลยุทธ์ด้วยสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Asset) สร้างสมดุลให้พอร์ต ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งมีขึ้นเป็นระยะๆ ตลอดปีที่ผ่านมา

“ตลอด 4 ปี บริษัทเลือกวางกลยุทธ์การลงทุนโดยคงแนะนำให้กระจายเงินลงทุนบางส่วนในสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่ำผ่าน กองทุนเปิด วรรณ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย โดยที่ผ่านมา เราเปิดเสนอขายไปทั้งหมด 6 กองทุน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเรามียอดขายรวมทั้งหมดประมาณหมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมยอดขายจากกองทุนส่วนบุคคล ทำให้ บลจ.วรรณครองแชมป์ IPO กองทุนสินทรัพย์ทางเลือกที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม ส่วนความสำเร็จของปีนี้ เราสามารถบริหารกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ได้ก่อนเป้าหมายผ่านกองทุน ONE-GO1 โดยใช้ระยะเวลาเพียง 10 วันทำการ นับว่าเป็นการสร้างสถิติใหม่ของการบริหารกองทุนภายใต้การบริหารของบลจ.วรรณ ประเภททริกเกอร์ฟันด์ ที่เข้าเงื่อนเลิกโครงการก่อนกำหนดการ 5 เดือนจากที่ตั้งเป้าไว้ “ นายพจน์ กล่าว

ที่ผ่านมา บลจ.วรรณ ได้ปรับพอร์ตการลงทุนให้ทันกับสภาวะตลาดอยู่เสมอ ซึ่งกองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทปีที่ผ่านจนถึงปัจจุบันนี้ อาทิ ONE-METAVERSE ONE-GECOM ONE-UGG-RA ONE-UJE-RA และ ONE-GLOBFIN-RA มีผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสภาวะตลาด เฉลี่ยอยู่ที่ 50% 29% 27% 24% และ 22% ตามลำดับ ซึ่งนโยบายการลงทุนของกองทุนเหล่านี้ปรับพอร์ตและคัดสรรการลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเทรนด์เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หุ้นเติบโตสูง และการเงินทั่วโลก รวมทั้งการจับจังหวะลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น

นอกจากธุรกิจกองทุนรวมแล้ว บริษัทยังคงรักษาระดับการเติบโตทั้งลูกค้านิติบุคคลและสถาบันองค์กรขนาดใหญ่รวมถึงตัวแทนผู้สนับสนุนการขาย (Selling Agents) ทั้งกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะของกองทุนส่วนบุคคล ยังได้รับความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนสำคัญในการหนุนมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของบริษัทให้มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมขนาด AUM อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ปัจจุบันเติบโตขึ้นแตะระดับกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปีนี้ บริษัทมีแผนรุกขยายฐานลูกค้าในบริษัทภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยนำร่องกองทุนต่างประเทศเป็นหลัก จากความเชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ ที่เริ่มส่งสัญญาณในเชิงบวก โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอขายแก่สมาชิกกองทุนและลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลได้

“ที่ผ่านมาบริษัทจัดกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยลูกค้าที่เป็น Selling Agents ปีนี้ บริษัทได้นำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้ารายย่อยผ่านกองทุนเปิด วรรณ อัลตร้า อินคัม พลัส ฟันด์ หน่วยลงทุนชนิดไม่จ่ายเงินปันผล สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (ONE-ULTRAPLUS-RA) เพื่อเจาะกลุ่มประชาชนที่ต้องการลงทุนและต้องการสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองด้านประกันชีวิตและสุขภาพไปพร้อมกัน ฐานลูกค้ากลุ่ม online platform หรือ กลุ่มอาชีพอิสระ(freelance) ซึ่งกองทุน ONE-ULTRAPLUS-RA จะสามารถตอบโจทย์การลงทุนในธีม Asset Allocation ในทุกๆ สินทรัพย์ได้ดี นอกจากนี้ เรายังคงมอบสิทธิประโยชน์ทางการตลาดต่อเนื่องกับระบบแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น ShopeePay เป็นต้น” นายพจน์กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top