EA อวดกำไรปี 66 กว่า 7 พันลบ.นิวไฮตั้งแต่ตั้งบริษัท แม้ Q4 ลดลงหลังลูกค้าเลื่อนส่งมอบ

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ ปี 2566 จำนวน 7,144.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,378.16 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.90 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติรวม 5,766.38 ล้านบาท

“ทั้งนี้กำไรสุทธิการดำเนินงานในปีนี้นั้นสูงที่สุดตั้งแต่บริษัทเปิดดำเนินการมา โดยการเพิ่มขึ้นในปี 2566 มาจากผลดำเนินงานของธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์และธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าธุรกิจไบโอดีเซลจะมีผลประกอบการที่ลดลง”

ส่วนรายได้จำนวน 31,597.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 4,050.95ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.71 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 27,546.81 ล้านบาท

สำหรับไตรมาสที่ 4/2566 มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ จำนวน 1,163.20 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1,009.05 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 46.54 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติรวม 2,172.25 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมสำหรับไตรมาสที่ 4/2566 จำนวน 6,171.77 ล้านบาท ลดลงจำนวน 3,497.61 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 36.17 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 9,669.38 ล้านบาท

เนื่องจาก (1) ลูกค้าที่มีแผนจะซื้อรถไฟฟ้าขอเลื่อนการส่งมอบรถเพราะต้องหาสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าแห่งใหม่เพราะที่เดิมนั้นไม่เพียงพอประกอบกับความล่าช้าในการขอ Low Priority จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทางภาครัฐ

(2) ในไตรมาสที่ 4/2565 มีการนำส่งรถโดยสารประจำทางไฟฟ้าที่ตกค้างมาจากไตรมาสที่ 3/2565 จำนวนถึง 909 คัน ทำให้รายได้จากการขายสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 4/2565 นั้นสูงกว่าปกติ

(3) ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น 874.69 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของหุ้นกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉลี่ยของกลุ่มบริษัทฯ ตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย

โครงการลงทุนที่สำคัญของบริษัท ได้แก่

  • ธุรกิจบริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด (EMN)

กลุ่มบริษัทฯ ขยายการดำเนินธุรกิจไปยังธุรกิจบริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า “EA Anywhere” ที่มีครอบคลุมอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการช่วยสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคได้ในอนาคต สิ้นปี 2566 บริษัทฯ ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าโดยมีการให้บริการแล้วจำนวน 499 สถานี (สถานี DC charger และสถานี AC charger) รวมทั้งหมด 2,515 หัวชาร์จ เพื่อตอบสนองการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในปี 2566

ทั้งนี้ในปี 2567 บริษัทฯ จะมุ่งเน้นการเติบโตออกเป็น 2 ส่วน 1) การขายสถานีชาร์จขนาดใหญ่ (Megawatt Charging Station) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เป็นยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ 2) การขยายตลาดสู่คอนโดมีเนียม อาคารจอดรถ และอาคารสำนักงานต่างๆ โดยใช้ Smart Energy Management System เพื่อให้การจัดการพลังงานของอาคารมีประสิทธิภาพสูงที่สุด บริษัทฯ ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาสมรรถภาพของเครื่องชาร์จสถานีชาร์จอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหาพื้นที่ที่ศักยภาพ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาใช้บริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทฯ ได้มากขึ้นในอนาคต

  • ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน ภายใต้บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (Amita-TH) โรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแห่งแรกในอาเซียนที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (GWh) ของบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Amita-TH ปัจจุบัน Amita-TH ดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เชิงพาณิชย์ ลิเทียมไอออนป้อนให้แก่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัทฯ

ทั้งนี้ Amita-TH ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตต ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัยสูง และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานที่ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ในปัจจุบัน Amita-TH กำลังอยู่ในกระบวนการขยายกำลังการผลิตเพิ่มจาก1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เป็น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และ 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 เพื่อรองรับความต้องการของแบตเตอรี่ในกลุ่มบริษัทฯรวมถึงตลาดแบตเตอรี่ในประเทศไทยและอาเซียน โดยปัจจุบัน Amita-TH อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของโลกเพื่อพัฒนาศักยภาพของแบตเตอรี่ของบริษัทฯ และขยายฐานลูกค้า รวมทั้งตั้งฐานการผลิตในเมืองไทยร่วมกัน

  • ธุรกิจผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ ภายใต้บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด (AAB) กลุ่มบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด หรือ AAB ปัจจุบัน AAB มีกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สูงสุดถึง 9,000 คันต่อปี ทั้งยังสามารถรองรับการผลิตรถได้หลายประเภท เช่น รถโดยสาร รถบรรทุก รถที่ใช้ในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เป็นต้น โรงงานของ AAB ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2566 บริษัทฯ มีการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดจำนวน 2,264 คัน

นอกจากนี้ บมจ. เน็กซ์ พอยท์ (NEX) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มบริษัทฯ ที่ได้เข้าเป็นพันธมิตรกับ บมจ. ทาคูนิ กรุ๊ป (TAKUNI) โดยปัจจุบัน TAKUNI ได้ลงนามความร่วมมือเบื้องต้น (MOU) กับบริษัท PT Powerspark จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำของประเทศอินโดนีเซีย ในการเป็นผู้จัดหาและส่งรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าไปยังประเทศอินโดนีเซีย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งการร่วมมือทางธุรกิจในครั้งนี้คาดว่าจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ของกลุ่มบริษัทฯ ต่อไปในอนาคต

ในปี 2567 นี้ บริษัทฯ จะมุ่งเน้นในการพัฒนาและผลิตรถหัวลากไฟฟ้า รวมถึงรถที่ใช้ในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่น รถขยะไฟฟ้า เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการสนับสนุนยานยนต์เชิงพาณิชย์ไฟฟ้าที่จะออกมาสนับสนุนต่อไปในอนาคต

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.พ. 67)

Tags: , ,
Back to Top