อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสิงคโปร์ชะลอตัวลงในเดือนม.ค. ซึ่งผิดคาดกับการคาดการณ์ แม้ภาษีสินค้าและบริการ (GST) จะเพิ่มขึ้นก็ตาม
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมค่าที่พักและการขนส่งทางถนนส่วนบุคคล และเป็นมาตรวัดที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) กำลังจับตามองอยู่นั้น อยู่ที่ 3.1% ในเดือนม.ค.เมื่อเทียบเป็นรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้โดยเฉลี่ยว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% ในขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อรวม อยู่ที่ 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ หลังจากที่ในเดือนธ.ค. 2566 อัตราเงินเฟ้อรวมอยู่ที่ 3.7%
เมื่อเทียบเป็นรายเดือน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.7% โดยที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการขนส่งลดลง 2.1%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ยังมีมติคงนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิมมาตั้งแต่เดือนเม.ย. 2566 โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางสิงคโปร์จะดำเนินนโยบายการเงินผ่านการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยน 3 ด้านด้วยกันซึ่งได้แก่ ความชัน (Slope), ค่ากลาง (Mid-Point) และความกว้าง (Width) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด (Policy Band) หรือที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER) ส่วนการดำเนินการในครั้งล่าสุดนี้ ธนาคารกลางได้ตัดสินใจคงความชัน ค่ากลาง และความกว้างของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ที่ระดับเดิม
MAS ระบุในรายงานทบทวนครั้งล่าสุดในเดือนม.ค.ว่า ควรคงค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ให้แข็งค่าขึ้นต่อไป เพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนในสิงคโปร์และลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อนำเข้า ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ MAS ในการสร้างเสถียรภาพด้านราคาในระยะกลาง
ทั้งนี้ MAS จะประชุมนโยบายการเงินอีกครั้งในเดือนเม.ย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 67)
Tags: สิงคโปร์, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจสิงคโปร์