ไทยอาจเผชิญแรงงานขาดแคลนหลังรัฐบาลทหารเมียนมาบังคับเกณฑ์ทหาร สะเทือนเศรษฐกิจไทย

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ และกรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วิกฤตการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมาหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 หลังผู้นำกองทัพไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของประชาชน ได้นำมาสู่ภาวะไร้เสถียรภาพ ความรุนแรงนองเลือด เกิดภาวะระส่ำระสายทางการเมืองไปทั่ว มีประชาชนกลายเป็นผู้ลี้ภัยและผลัดถิ่นไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เสียชีวิตและบาดเจ็บพิการล้มตายหลายหมื่นคน เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ระบบสถาบันการเงินล่มสลาย เงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ความยากลำบากทางเศรษฐกิจปกคลุมไปทั่ว การด้อยค่าและดิ่งลงของค่าเงินจ๊าด เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าจำเป็นพื้นฐานความมั่นคงสั่นคลอนอย่างรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวการณ์แตกเป็นเสี่ยงๆของสหภาพเมียนมา

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำไทยพึงตระหนักถึงบทเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน และต้องแก้ไขปัญหาต่างๆตามวิถีทางประชาธิปไตยและสถาปนาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมในสังคมไทย ไม่ส่งเสริมการกระทำต่างๆที่ไปเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ภราดรภาพ สันติธรรมและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือสังคมไทยต้องช่วยกันลดการกระทำยั่วยุให้เกิดการขยายตัวของความขัดแย้งในบ้านเมืองใช้การสานเสวนาและกลไกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยในฐานะเพื่อนร่วมชาติและเพื่อนร่วมโลก

ความพยายามของ “เครือข่ายจารีตอนุรักษ์นิยมขวาจัดแบบอำนาจนิยม”ในการฟื้นคืนสู่อำนาจด้วยวิถีทางนอกระบบนิติรัฐนิติธรรม นอกวิถีทางประชาธิปไตยโดยใช้กลไกของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เปิดช่องเอาไว้เกิดขึ้นได้เสมอหากเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมสุกงอมพอ พวกเขาคงเลือกใช้ “นิติสงคราม” “ตุลาการภิวัฒน์” ก่อน หากไม่สำเร็จคงจะใช้กำลังยึดอำนาจรัฐประหารเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยอันลุ่มๆดอนๆของไทยในช่วง 92 ปีที่ผ่านมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475

สังคมไทยและขบวนการของผู้รักชาติรักประชาธิปไตยจึงไม่ควรประมาทเพราะประเทศไทยมีรัฐประหารสำเร็จโดยเฉลี่ยทุกๆ 7 ปี มีรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง ความพยายามในการก่อรัฐประหารอีกหลายครั้งที่ไม่สำเร็จกลายเป็นกบฎ ขอให้พวกเราช่วยกันรับมือความท้าทายของการสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การรัฐประหารในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น การรัฐประหารโดยตุลาการ หรือ การรัฐประหารโดยกองทัพ เพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลาย อำนาจอธิปไตยของประชาชน การเข้าแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยในอนาคตด้วยการใช้รถถังหรืออาวุธมายึดอำนาจมีความเสี่ยงน้อยลง แต่จะมีการใช้ “นิติสงคราม” มากขึ้น

“นิติสงคราม”นี้จะต้องมีการปูพื้นหรือสร้างกระแสในสังคมก่อนผ่านการใช้สงครามปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอเพื่อทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงกันข้าม ปฏิบัติการข่าวสารบิดเบือน ไอโอของข่าวลวงข่าวเท็จพวกนี้จะพุ่งเป้าทำลายไปที่นโยบายของพรรคการเมือง สถาบันพรรคการเมือง และนักการเมืองทั้งหลาย โดยเฉพาะพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีจุดยืนประชาธิปไตย การปฏิบัติการข่าวสารบางส่วนจะใช้ ข้อมูลกึ่งเท็จกึ่งจริงเพื่อทำลายภาพลักษณ์นักการเมืองให้เสียหายจนประชาชนสิ้นศรัทธา หรือการปลุกปั่นความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัด หรือแอบอ้างสถาบันสำคัญของชาติในการสร้างความแตกแยกในสังคมอย่างสุดโต่ง ทำลายบรรยากาศของความเห็นต่างที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการพูดคุยด้วยเหตุผล ปฏิบัติการไอโอของเครือข่ายจารีตอนุรักษ์นิยมขวาจัดสุดโต่งอำนาจนิยม มักจะแอบอ้างสถาบันสำคัญของชาติ และมีการทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นเครือข่ายจนกระทั่งพัฒนาสู่ความเป็นสถาบันหรือฝังตัวอยู่ในบางสถาบันแล้วในขณะนี้

การแก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีด้วยการโต้กลับด้วยความและเหตุผลอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้นที่จะรักษาความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยและความสันติสุขของสังคมได้ และ สามารถ สกัดกั้นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตย ได้อย่างมีประสิทธิผล

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เมียนมาประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารอย่างยาวนาน 50 ปี และมีประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ ประเทศกำลังไปได้ดีและเกิดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ นักลงทุนต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนในพม่าจนพลิกโฉมให้สหภาพเมียนมาทันสมัยขึ้นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในยุคการปกครองแบบปิดประเทศของผู้นำกองทัพ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกำลังจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประชาธิปไตยที่ดำเนินมาเกือบทศวรรษต่อเนื่องจากรัฐบาลทหารสายปฏิรูป พรรคสหสามัคคีและการพัฒนาของประธานาธิบดี เตงเส่ง และ รัฐบาลพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรคเอ็นแอลดี สะดุดหยุดลงด้วยการรัฐประหารล่าสุดของผู้นำกองทัพในปี พ.ศ. 2564 สถานการณ์ในพม่าได้ตอกย้ำให้หลายประเทศตระหนักถึงผลกระทบของการรัฐประหารโดยใช้กำลัง ว่าทำให้ประเทศแตกเป็นเสี่ยง ผู้ลี้ภัยผลัดถิ่นมากกว่า 1 ล้านคน เสียชีวิตจากสงครามกลางเมืองหลายหมื่นคน

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์สงครามกลางเมืองล่าสุดในเมียนมา กองทัพเมียนมาภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร มิน อ่อง ล่ายประสบความพ่ายแพ้ยับเยินในหลายพื้นที่ต่อกองกำลังต่อต้านการรัฐประหาร รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG) และ กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าจึงได้บังคับเกณฑ์ทหารพลเรือนขึ้น โดยประกาศบังคับเกณฑ์ทหารดังกล่าวจะครอบคลุมแรงงานหนุ่มสาวชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยภายใต้ MOU ด้วย

สภาวะดังกล่าวจะกระทบต่อภาคการผลิตบางกิจการของไทยและจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในไทยเป็นการชั่วคราวระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะจะเกิดภาวะแรงงานเมียนมาร์หลบเข้าเมืองผิดกฎหมายมาทำงานเพิ่มขึ้น คนหนุ่มสาวจะหนีการเกณฑ์ทหารเข้ามาเป็นผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพหรือเข้ามาเป็นแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น

หากประเมินดูตลาดแรงงานของไทยพบว่า ประชากรในวัยทำงานของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องและในอัตราเร่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยปี 2566 มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% ประชากรในวัยทำงานปัจจุบันอยู่ที่ 42.4 ล้านคน และ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ขณะนี้บางกิจการ บางอุตสาหกรรมสามารถทำการผลิตต่อไปได้โดยอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน บางอุตสาหกรรมปรับใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์และเอไอมากขึ้น พึ่งพิงแรงงานมนุษย์ลดลงและผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น จากงานวิจัยของ ธนาคารโลก เรื่อง “Aging and the Labour Market in Thailand พบว่า ภาวะประชากรสูงวัยส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงานไทยและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของประเทศไทยส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของบุคคลในประเทศเติบโตลดลง และหากไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ต่อหัวลดลงอีกร้อยละ 0.86 ในทศวรรษ 2020 ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก

นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า หากอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานนั้นคงที่ตามอายุและเพศแล้ว โครงสร้างประชากรของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปโดยคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานโดยรวมจะลดลงประมาณร้อยละ 5 ระหว่างปี 2563 ถึงปี 2603 และจำนวนแรงงานลดลงถึง 14.4 ล้านคน

ทั้งนี้จำนวนแรงงานที่ลดลงอาจส่งผลให้ประเทศอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานซึ่งอาจขัดขวางโอกาสในการเติบโตของประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น อาจช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บางส่วน ในขณะที่ผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อาจทวีความรุนแรง เนื่องจากความต้องการแรงงานที่มีทักษะความชำนาญในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บรรเทาลงอย่างมากจากแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านภาคการผลิต ภาคบริการในหลายกิจการต้องอาศัยแรงงานต่างชาติไม่ต่ำกว่า 60-70% ของกำลังแรงงานทั้งหมด หากพิจารณาตัวเลขข้อมูลล่าสุด พบว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวที่รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายภายใต้มาตรา 59 (ทั้งแบบทั่วไป และนำเข้าแรงงานตาม MOU) มาตรา 62 (ส่งเสริมการลงทุน) มาตรา 63/1 (ชนกลุ่มน้อย) มาตรา 63/2 (ตามมติครม 7 กุมภาพันธ์ และ มติ ครม 3 ตุลาคม 2566) และ แรงงานต่างด้าวทำงานแบบไปกลับตามมาตรา 64 ตามพระราชบัญญัติ การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

ยอดคงค้างรวมที่ยังคงทำงานในประเทศในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 อยู่ที่ 3.145 ล้านคน ในจำนวนแรงงานต่างด้าวสามล้านกว่าคนนี้เป็นชาวเมียนมามากกว่า 1.4 ล้านคน คิดเป็น 44% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด และ ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว หากถูกเรียกเกณฑ์ทหารแล้วกลับไปเมียนมา จะกระทบต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจไทยทันที อย่างไรก็ตามการประกาศการบังคับเกณฑ์ทหารของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอาจไม่มีผลในทางปฏิบัติหากรัฐไทยไม่ให้ความร่วมมือส่งกลับ เพราะแรงงานพม่าส่วนใหญ่คงไม่มีใครอยากกลับไปรบเพื่อรักษาอำนาจให้เผด็จการแต่อย่างใดไม่ได้กลับไปรบเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ

หากรัฐบาลชุดนี้ให้ความร่วมมือต่อการร้องขอของรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาส่ง แรงงานภายใต้ MOU ก็จะเกิดปรากฏ หนีหมายเรียกบังคับเกณฑ์ทหาร กลายเป็น แรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายไป แรงงานเมียนมาอาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลประมาณ 747,417 คน

หากแรงงานเหล่านี้หายไปเกิน 50% บางธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ กิจการจะเกิดภาวะชะงักงันในการทำงานทันที ฉะนั้นรัฐบาลไทยและหน่วยราชการต้องแสวงหาวิธีที่เหมาะสมในการไม่ส่งคนหนุ่มสาวที่ถูกหมายเกณฑ์กลับเมียนมา เพราะคนเหล่านี้ก็ไม่อยากกลับประเทศตัวเองอยู่แล้ว และ ยิ่งต้องไปถูกเกณฑ์เป็นทหารให้ปกป้องรักษาระบอบเผด็จการมิน อ่อง ล่าย ยิ่งไม่มีใครอยากกลับ

แรงงานเหล่านี้คงจะกลับประเทศเมื่อสงครามกลางเมืองและการปกครองของระบอบเผด็จการกดขี่สิ้นสุดลง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี และเมื่อสถานการณ์ในเมียนมาเปลี่ยนแปลงไป รัฐไทยก็ต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้ว่า นโยบายสาธารณะเกี่ยวกับโครงสร้างประชากร นโยบายแรงงานและแรงงานต่างด้าวควรเป็นอย่างไร ตนประเมินว่า หากรวมแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองแบบไม่ถูกกฎหมายแล้ว แรงงานต่างด้าวที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยน่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

หากสถานการณ์สงครามกลางเมืองในพม่ายังดำเนินต่อไปและมีการบังคับการเกณฑ์ทหารจะมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากหนีออกนอกประเทศผ่านทั้งช่องทางตามกฎหมายและช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดน ด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมและผลบวกต่อเศรษฐกิจของไทย ไทยควรขยายบทบาทค่ายผู้ลี้ภัยด้วยความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ และการยืดอายุการทำงานให้กับแรงงานเมียนมาภายใต้ MOU ในประเทศไทยทั้งหมดเพื่อรักษาชีวิตของคนเหล่านี้เอาไว้และยังเป็นผลดีต่อภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจที่ไม่ต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการบังคับการเกณฑ์ทหารของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การที่ไทย และ ประชาคมอาเซียนที่เคยมีจุดยืนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยยึดหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน”ทำให้ มิติประชาธิปไตย มิติมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่าง ไทยและ อาเซียน กับ เมียนมา

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนในสมัยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้นำเสนอแนวทางการทูตแบบ “พัวพันอย่างสร้างสรรค์” (Constructive Engagement) แต่รัฐบาลสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยจึงปรับมาใช้แนวทางหรือนโยบาย “ความพัวพันอย่างยืดหยุ่น” (Flexible Engagement)แทนและกรอบแนวทางนี้อาเซียนก็ใช้มาจนปัจจุบันนี้

แต่ดูเหมือนการฑูตของไทยในยุค รัฐบาล คสช.จะไม่ค่อยยึดแนวทางนี้มากนัก จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาลชุดนี้ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายให้ความสำคัญต่อความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของประชาชนประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น การที่รัฐบาลชุดนี้มีความริเริ่มให้เกิดพื้นที่ทางด้านมนุษยธรรมขึ้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ประเทศไทยและอาเซียน ควรมีบทบาทนำให้มีเจรจายุติการหยุดยิงและการหารือเพื่อให้เกิดสันติภาพในพม่าและนำไปสู่การคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการจัดการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรม

รัฐบาลไทยควรมีบทบาทเชิงรุกในการทำให้เกิดการเจรจาสันติภาพในเมียนมา บทบาทดังกล่าวของไทยจะช่วยรักษาชีวิตของพี่น้องประชาชนชาวเมียนมาผู้บริสุทธิ์ รักษาความสงบสันติภาพ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองฝั่งตามแนวชายแดน การยุติสงครามกลางเมือง และนำไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยของเมียนมาจะเป็นผลโดยตรงจากความมุ่งมั่นและจริงจังของกลุ่มพลังต่างๆภายในประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงให้เกิด สันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมา นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากอาเซียน ไทยและนานาชาติ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศที่ปกครองแบบอำนาจนิยมเผด็จการทหารอย่างยาวนานให้เป็นประชาธิปไตย ทำให้ประเทศที่มีสงครามกลางเมือง เป็น ประทศที่มีสันติธรรม ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน การมีแนวทางพัวพันอย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ต่อเมียนมาของไทยและอาเซียนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ และ อาจต้องเริ่มต้นให้มีการหยุดยิงและเจรจากันก่อน บทบาทของไทยมีความสำคัญ และไทยเคยทำสำเร็จมาแล้ว กรณีการเจรจาสันติภาพและยุติสงครามกลางเมืองในกัมพูชามีการปรับเปลี่ยนนโยบายจากสนามรบเป็นสนามการค้า

นายอนุสรณ์ กล่าวข้อเสนอในช่วงท้ายว่าไทยสามารถแสดงบทบาทต่อสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมาและอาเซียนได้ไทยต้องแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานและความก้าวหน้าบางอย่างที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ดังต่อไปนี้

  • หนึ่ง ต้องมีการแก้ไขกติกาสูงสุดรัฐธรรมนูญของไทยให้ยึดถือหลักการประชาธิปไตยเสียก่อน เนื้อหาส่วนไหนที่ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย และเป็นเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมต้องตัดออก ต้องปลดปล่อยนักโทษทางความคิดและนักโทษทางการเมืองออกจากการจองจำยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น

  • สอง ไทยควรมีบทบาทนำในการเรียกร้องให้ รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และ คณะกรรมการปรึกษาหารือเพื่อยุติสงครามกลางเมืองและฟื้นฟูประชาธิปไตยและสันติภาพในเมียนมา

  • สาม ไทยควรสนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา และ ประเทศอื่นๆในอาเซียนที่ยังมีปัญหาความเป็นประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่

  • สี่ เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ตกอยู่ในอันตราย หรือ หลบหนีจากเมียนมา และประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตอย่างรุนแรงร่วมกับอาเซียนในการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยพลการ รวมทั้งผู้ที่ถูกจำคุกโดยไม่เป็นธรรมทั้งหมด

  • ห้า เพิ่มแรงกดดันทางการทูต ผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและที่ประชุมสมัชชาเพื่อหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในเมียนมา

  • หก เรียกร้องกดดันให้กองทัพพม่ายุติปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน

  • เจ็ด รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการกวดขันตามแนวชายแดนเพื่อยุติการส่งมอบอาวุธและทรัพยากรอื่นๆที่ถูกใช้เพื่อปรามปรามประชาชนและละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพเมียนมา รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างจริงจังในการปราบปรามขบวนการค้าอาวุธค้ายาเสพติดที่เจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง

  • แปด ต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือของขบวนการประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน และรักษาเอกภาพขบวนการประชาธิปไตยภายในแต่ละประเทศ และ สร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิด”สันติธรรมประชาธิปไตย” ภายในประเทศและสร้างพลังเครือข่ายร่วมกันเพื่อให้ภูมิภาคนี้ เป็นภูมิภาคที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน ยึดถือมนุษยธรรม เป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพและความมั่นคง สงบสันติ สิทธิเสรีภาพเบ่งบาน เป็นภูมิภาคอาเซียนของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ปัญหาความเป็นเผด็จการและอำนาจนิยมในแต่ละประเทศในภูมิอาเซียนนั้นไม่เหมือนกัน

ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยอำนาจนิยมในไทยอาจดูโหดร้าย ใช้ความรุนแรงน้อยกว่าเผด็จการทหารเมียนมา เป็นระบอบอำนาจนิยมที่ฉลาดกว่า เนียนกว่า และ หลอกล่อให้ขบวนการประชาธิปไตยแตกแยกลง และ อ่อนแอลง กรณีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 อันบิดเบี้ยวเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นปรากฎการณ์ที่เราเห็นอย่างชัดเจน และขอให้ท่านติดตามความพยายามในการตัดสิทธินักการเมือง และ ยุบพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ให้ดี การกระทำดังกล่าวจะนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองและการเผชิญหน้าขัดแย้งรอบใหม่ได้

  • เก้า ขยาย MOU ให้แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา ได้ทำงานในไทยต่อไป ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจไทยและความมีมนุษยธรรมของสังคมไทย ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหประชาชาติพัฒนาพื้นที่ทางด้านมนุษยธรรมปลอดการสู้รบเพื่อให้ผู้ลี้ภัยสงคราม ผู้รักสันติ ได้อพยพตั้งถิ่นฐานเป็นการชั่วคราวจนกว่า ประเทศเมียนมา จะมีสันติภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 67)

Tags: , ,
Back to Top