อินโดนีเซียมียอดเกินดุลการค้า 2.01 พันล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากตลาดโลกที่ซบเซาส่งผลให้ยอดส่งออกลดลงมากกว่าที่คาด
ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่า อินโดนีเซียจะมียอดเกินดุลการค้า 2.99 พันล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. นอกจากนั้นยังต่ำกว่าเดือนธ.ค. 2566 ซึ่งมียอดเกินดุลการค้าอยู่ที่ 3.30 พันล้านดอลลาร์
รายงานระบุว่า ยอดส่งออกของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลดลง 8.06% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 2.052 หมื่นล้านดอลลาร์ และร่วงมากกว่าที่โพลของรอยเตอร์คาดว่าจะลดลงเพียง 2.7% สาเหตุมาจากยอดส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลัก ๆ เช่น ถ่านหินและน้ำมันปาล์ม ปรับตัวลดลง
โดยยอดส่งออกน้ำมันปาล์ม ซึ่งอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลก ลดลง 11.54% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี
ทั้งนี้ ยอดส่งออกมีแนวโน้มว่าจะซบเซาไปตลอดทั้งปี เนื่องจากเศรษฐกิจของบรรดาประเทศคู่ค้าหลักของอินโดนีเซียมีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลง
นายอิรมัน ฟาอิซ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารดานามอน (Bank Danamon) กล่าวว่า “เศรษฐกิจของบรรดาประเทศคู่ค้าหลักยังคงอ่อนแอ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลงชัดเจน”
นายฟาอิซเสริมว่า หากยอดเกินดุลการค้ายังคงลดลงไปจนถึงสิ้นปี ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2567 อาจขาดดุลถึง 1% ของ GDP ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่ขาดดุลอยู่ที่ 0.4% ของ GDP
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2567 จะขาดดุลประมาณ 0.1%-0.9% ของ GDP
ด้านยอดนำเข้าเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 0.36% แตะที่ 1.851 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่โพลของรอยเตอร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.3%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 67)
Tags: ดุลการค้า, อินโดนีเซีย, เศรษฐกิจอินโดนีเซีย