นักลงทุนในตลาดการเงินจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนม.ค.ของสหรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
กระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยดัชนี CPI ประจำเดือนม.ค.ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.พ.) ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI เดือนม.ค.จะขยับขึ้นเพียง 0.2% และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนม.ค.
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 ก.พ.) กระทรวงแรงงานสหรัฐประกาศลดการประเมินดัชนี CPI ประจำเดือนธ.ค. โดยระบุว่าดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ที่ระดับ 0.3%
ทั้งนี้ หลังจากสหรัฐปรับลดการประเมินดัชนี CPI เดือนธ.ค. นักลงทุนให้น้ำหนัก 54.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 50.3% ก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน นักลงทุนให้น้ำหนัก 35.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนพ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 40.1% ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนม.ค. ในวันที่ 29 ก.พ.นี้ โดยดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
เจ้าหน้าที่เฟดยังคงติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดได้ออกมาส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อของสหรัฐกำลังชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
นางเอเดรียนา คุกเลอร์ หนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการเฟดกล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันบรูกิงส์ (Brookings Institution) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ย้ำว่าการจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้นั้น เงินเฟ้อจะต้องปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%”
อย่างไรก็ดี นางคุกเลอร์ไม่ได้ระบุว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยคือช่วงเวลาใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับว่าเงินเฟ้อปรับตัวลงรวดเร็วเพียงใด
ขณะที่นางซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟดสาขาบอสตันกล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งเมืองบอสตันว่า “ขณะนี้เงินเฟ้อสหรัฐกำลังอยู่ในทิศทางที่มีเสถียรภาพและมีแนวโน้มที่จะลดลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% โดยหากสถานการณ์เงินเฟ้อยังคงมีความคืบหน้าเช่นนี้ เฟดก็อาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ อย่างไรก็ดี เฟดจำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน”
ทางด้านนายโทมัส บาร์กิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวมาร์เก็ตวอตช์ว่า “ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความคืบหน้าของเงินเฟ้อเมื่อไม่นานมานี้ อาจเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผมมองว่าเป็นความคิดที่ดีที่เฟดจะใช้เวลาต่อไปอีกระยะหนึ่งในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงไม่แน่นอน และผมขอพูดจากใจจริงว่า ผมยังไม่มีการคาดการณ์ที่แน่นอนและผมคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดในขณะนี้คือการอดทนรอคอย”
การแสดงความเห็นล่าสุดของเจ้าหน้าที่เฟดเหล่านี้ สอดคล้องกับที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดให้สัมภาษณ์ในรายการ “60 Minutes” ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ว่า “เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยล่าช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในขณะนี้ทำให้เฟดต้องใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเฟดต้องการเห็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.พ. 67)
Tags: CPI, ดัชนีราคาผู้บริโภค, สหรัฐ, เงินเฟ้อ, เงินเฟ้อสหรัฐ