น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ …) พ.ศ… (ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระภาษี สำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ
1. ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่กระทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) และขยายการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้รวมถึงนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ด้วย
2. ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับโทเคนดิจิทัล (Token Digital) ในประเภทของโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โดยให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ได้กระทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมกัน (เดิมยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจาก รมว.คลังเท่านั้น) รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการโอนขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มีดังนี้
1. การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมีความเท่าเทียมกันในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ
2. การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนในประเทศไทย เกิดขึ้นผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ
3. นักลงทุนในประเทศไทยที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีเพิ่มขึ้น
4. ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามมา
น.ส.เกณิกา กล่าวถึงการสูญเสียรายได้รัฐว่า กระทรวงการคลัง ประเมินว่า การขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนการขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ที่ได้รับอนุญาตจาก รมว.คลัง จะไม่ทำให้สูญเสียรายได้เพิ่มเติมจากที่สูญเสียอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนการขยายการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ให้รวมถึงการขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) ที่ได้รับอนุญาตจาก รมว.คลัง และการขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้และโดยผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ที่ได้รับอนุญาตจาก รมว.คลัง จะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ ไม่อยู่ในข่ายต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (รายรับของผู้ขายต้องถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียน ถ้ายอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) โดยคาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณปีละ 70 ล้านบาท
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังออกมาตรการยกระดับการระดมทุนของประเทศผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล คู่ขนานกับเครื่องมือระดมทุนเดิม โดยเดินหน้าพัฒนาและสนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อส่งเสริมการระดมทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) ของภูมิภาค
“นายกรัฐมนตรีได้กำหนดแนวทางในภาพใหญ่ว่ารัฐบาลนี้สนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการระดมทุนของประเทศ โดยต้องคำนึงเสถียรภาพของระบบการเงิน แต่ต้องไม่สูญเสียศักยภาพการพัฒนา” นายเผ่าภูมิ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 67)
Tags: Cryptocurrency, VAT, กระทรวงการคลัง, คริปโทเคอร์เรนซี, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, สินทรัพย์ดิจิทัล, เกณิกา อุ่นจิตร์, เผ่าภูมิ โรจนสกุล, โทเคนดิจิทัล