BAY คาดบาทสัปดาห์นี้ 35.30-35.85 มองกนง.คงดอกเบี้ยตลอดปี จับตาทิศทางเงินเฟ้อ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.30-35.85 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 35.25 ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.24-35.66 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงดอกเบี้ยที่ 5.25-5.50% ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงและเศรษฐกิจแข็งแกร่ง โดยแถลงการณ์ล่าสุดเฟดได้ตัดทิ้งถ้อยคำที่บ่งชี้ว่ามีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต

อย่างไรก็ดี เฟดตั้งเงื่อนไขว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงก็ต่อเมื่อเฟดมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อจะปรับเข้าใกล้ระดับ 2% อย่างยั่งยืน โดยประธานเฟดกล่าวว่าการลดดอกเบี้ยเดือนมีนาคมไม่ใช่กรณีฐาน นอกจากนี้เฟดจะหารือเชิงลึกในเดือน มี.ค.เกี่ยวกับการยุติมาตรการคุมเข้มเชิงปริมาณ (Quantitative Tightening) ทั้งนี้ เฟดดำเนิน QT ด้วยการปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เฟดถือครองไว้ลดลงไม่เกิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และ Mortgage-backed Securities ที่เฟดถือครองไว้ลดลงไม่เกิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนเพื่อลดสภาพคล่องส่วนเกิน ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ตรึงดอกเบี้ยที่ 5.25% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในรอบเกือบ 16 ปี โดยสมาชิก 6 จาก 9 รายสนับสนุนให้คงดอกเบี้ยขณะที่สองรายโหวตให้ปรับขึ้นและหนึ่งรายลงมติให้ลดดอกเบี้ย ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,980 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 7,410 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐฯและความเห็นเจ้าหน้าที่เฟด หลังข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ม.ค.ออกมาสดใสอย่างมีนัยสำคัญและยืนยันว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย โดยเรามองว่าภาวะดังกล่าวจะยังคงหนุนค่าเงินดอลลาร์ในไตรมาสนี้ อนึ่ง ความกังวลที่เกี่ยวข้องกับธนาคารภูมิภาคในสหรัฐฯที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ดูเหมือนจะเป็นความเสี่ยงเดียวที่อาจจำกัดการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้ในระยะสั้น

ส่วนปัจจัยในประเทศ คาดว่า เงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 7 กุมภาพันธ์ แม้จะมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ โดยตลาดจะรอดูการประเมินทิศทางเงินเฟ้อ ทั้งนี้ เราคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะถูกตรึงไว้ตลอดปี 67 ยกเว้นกรณีเฟดเร่งลดดอกเบี้ยและเศรษฐกิจขาดมาตรการกระตุ้นทางการคลัง กนง.อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 67)

Tags: ,
Back to Top