- พนักงานไทยมีความผูกพันต่อองค์กรสูงถึง 72% ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 53%
- นายจ้างรับฟังและดำเนินการตามความคิดเห็นของพนักงานเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดความผูกพันกับองค์กรถึง 85%
- พนักงานไทยไม่ค่อยเปลี่ยนงาน พบว่าน้อยกว่าหนึ่งในสิบ (8%) ของพนักงานชาวไทยจะเปลี่ยนงานภายในระยะเวลาหนึ่งปี
ควอทริคซ์ (Qualtrics) ผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการประสบการณ์ เปิดเผยว่า พนักงานในประเทศไทยมีความผูกพันกับองค์กร 72% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 53% และเป็นลำดับสอง รองจากอินเดียที่มีอัตราส่วน 79%
ตามมาด้วยฮ่องกงที่ 63% โดยการดำเนินการตามความคิดเห็นของพนักงานเป็นปัจจัยที่ทำให้พนักงานเกิดความผูกพันกับองค์กรมากที่สุด
ผลการศึกษาของควอทริคซ์ เรื่องแนวโน้มประสบการณ์ของพนักงานในปี 2563 พบว่า การดำเนินการตามความคิดเห็นของพนักงานเป็นปัจจัยให้เกิดความผูกพันกับองค์กรสูงถึง 85% ในขณะที่ความผูกพันต่อองค์กรจะลดลงมาที่ 55% หากผลการตอบรับนั้นไม่ได้นำไปปฏิบัติ ความถี่ในการนำผลตอบรับและนำไปปฏิบัติ ส่งผลต่อการความผูกพันของพนักงาน
ผลสำรวจของควอทริคซ์ยังพบด้วยว่า ความผูกพันของพนักงานอยู่ที่ 79% เมื่อผลตอบรับนั้นได้ถูกรวบรวมและนำไปปฏิบัติอย่างช้าไม่เกินไตรมาส ในขณะที่ ถ้าหากว่าความถี่มีเพียง 1-2 ครั้งต่อปี ความผูกพันของพนักงานจะลดลงเล็กน้อยที่ 74%
สำหรับปัจจัยสำคัญในการผลักดันประสบการณ์พนักงานในไทยนั้น เกือบสองในสาม (64%) ของพนักงานในประเทศไทยเชื่อว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่นายจ้างรับฟังความคิดเห็นของตนเอง องค์กรธุรกิจที่มีโปรแกรมเปิดรับฟังความคิดเห็นพนักงานทำให้ระดับคะแนนความผูกพันของพนักงานบรรลุเป้าหมายถึง 77% เปรียบเทียบกับองค์กรที่ไม่มีโปรแกรมเปิดรับฟังความคิดเห็น พนักงานมีความผูกพัน 55%
ปัจจัยอันดับต้นๆ ที่สร้างให้เกิดความผูกพันของพนักงานในประเทศไทย คือ การประกาศเกียรติคุณการทำงานดีของพนักงาน เส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างการทำงาน และวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ขององค์กร โอกาสในการเรียนรู้และการพัฒนา ผู้จัดการที่ช่วยพนักงานในการพัฒนาสายอาชีพ และความมั่นใจในผู้นำอาวุโสที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
นายสตีเฟ่น ชู นักวางกลยุทธ์โซลูชั่นอาวุโส กล่าวว่า “จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการสอบถามเสียงสะท้อนจากพนักงาน และความถี่ที่องค์กรถาม ส่งผลโดยตรงต่อระดับคะแนนความผูกพันของพนักงาน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขับเคลื่อนแท้จริงแล้ว คือ ความรู้สึกของพนักงานที่ว่าองค์กรได้นำความคิดเห็นของพวกเขาไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมหรือไม่”
นายสตีเฟ่น กล่าวว่า “ผลกระทบเชิงบวกของความผูกพันของพนักงาน เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม พนักงานสมัยใหม่ มีประสบการณ์กับโปรแกรมเหล่านี้ ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นและเร็วขึ้น สำหรับองค์กรที่เปิดรับฟังความคิดเห็น และนำไปปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มั่นใจในการตัดสินใจ เพราะมาจากพื้นฐานของกลุ่มพนักงานที่มีใจให้องค์กร”
นายสติเฟ่น กล่าวด้วยว่า “ผลการศึกษาล่าสุดของควอทริคซ์ ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญสำหรับองค์กรธุรกิจในการปรับปรุงประสบการณ์การทำงานของพนักงาน รวมถึงมาตรการที่ควรต้องทำเพื่อให้พนักงานทุกๆ คนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ต้องปฏิวัติองค์กร เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับองค์กรที่ต้องถามความคิดเห็น และรับฟังพนักงานอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญที่สุด คือ นำมาปฏิบัติใช้”
ผลการศึกษายังเผยด้วยว่า บริษัทในประเทศไทยได้รับประโยชน์จากจำนวนพนักงานลาออกต่ำที่สุดทั่วโลก โดยพนักงานในประเทศไทยเพียง 8% เท่านั้นที่ตั้งใจจะอยู่กับบริษัทน้อยกว่า 1 ปี จำนวนพนักงานที่มองหางานใหม่เพิ่มขึ้นสองเท่า (16%) เมื่อถามถึงช่วงเวลาทำงานกับบริษัทถึงสองปี
จากการศึกษาทั่วโลก พนักงาน 18% ตั้งใจจะอยู่กับบริษัทเดิมน้อยกว่า 1 ปี ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ที่มีอัตราการลาออกของพนักงานต่ำ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น (11%) และเยอรมันนี (13%) ในทางกลับกัน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (23%) และสหราชอาณาจักรอังกฤษ (23%) ต้องเผชิญกับการย้ายงานในอัตราสูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.พ. 63)
Tags: ควอทริคซ์, ทรัพยากรมนุษย์, ผลสำรวจ, ฝ่ายบุคคล, พนักงานบริษัท