นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เผยได้หารือกับนายหาน จื้อเจียง เอกอัครราชทูตสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ถึงความสำเร็จในการดำเนินความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกัน รวมถึงแนวทางความร่วมมือระดับทวิภาคีในอนาคต โดยจะมีความร่วมมือเพิ่มเติมอีก 3 ด้าน ได้แก่
- ด้านอาชีวเวชศาสตร์ เกี่ยวกับแนวทางการตรวจสุขภาพแรงงานไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน และการแลกเปลี่ยนแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ พยาบาล และวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูล สื่อการเรียนรู้ เอกสารทางวิชาการ
- ด้านสาธารณสุขและการแพทย์ดั้งเดิม โดยจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลวิชาการ ทั้งทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนจีน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโรคอุบัติใหม่ การวิจัยโรคที่เป็นปัญหาร่วมกัน การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ และการพัฒนามาตรฐานยาจากสมุนไพรและการแพทย์ดั้งเดิมอย่างครบวงจร
- ด้านการป้องกันควบคุมโรค เน้นการการส่งเสริมความความร่วมมือด้าน Travel Medicine ระหว่างไทย-จีน เนื่องจากประชาชนของทั้งสองประเทศเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันจำนวนมาก และความร่วมมือด้านวัคซีน โดยองค์การเภสัชกรรมได้พัฒนาความร่วมมือกับบริษัท CSPC Pharmaceutical Group Ltd. ในการผลิต mRNA Covid Vaccine และหารือเรื่องการพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตวัคซีนในระยะยาว
“นาย หาน จื้อเฉียง ได้เชิญให้ผมไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อลงนาม MOU อย่างเป็นทางการ” นพ.ชลน่าน กล่าว
ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขไทย-จีนมีความร่วมมือทำ MOU กันแล้ว 10 สาขา ได้แก่ การป้องกันโรคติดต่อและโรคระบาด โรคไม่ติดต่อ การแพทย์พื้นบ้าน การพัฒนายาและสมุนไพร อนามัยแม่และเด็ก การแพทย์ผู้สูงอายุ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นวัตกรรมการแพทย์ การบริหารจัดการทางการแพทย์ การวิจัยทางการแพทย์ การส่งเสริมป้องกันสุขภาพ และระบบสุขภาพโลก โดยได้ยกร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน พร้อมเพิ่มเติมประเด็น Hospital Management จับคู่ในรูปแบบโรงพยาบาลพี่น้อง (Sister Hospital) ระหว่างโรงพยาบาลของไทยกับจีนในการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลด้านดิจิทัล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 67)
Tags: Travel Medicine, ชลน่าน ศรีแก้ว, อาชีวเวชศาสตร์, แพทย์ดั้งเดิม