iPhone ของแอปเปิ้ล อิงค์ ซึ่งขึ้นครองตำแหน่งสมาร์ตโฟนขายดีที่สุดในปี 2566 และมียอดขายคิดเป็น 1 ใน 5 ของตลาดทั่วโลกนั้น กำลังเผชิญปัญหาขายไม่ดีในจีน โดยเฉพาะกับ iPhone 15 ท่ามกลางกระแสชาตินิยมที่สนับสนุนให้คนจีนหันมาใช้สมาร์ตโฟนแบรนด์จีน ตลอดจนการกีดกัน iPhone จากรัฐบาลจีน ส่งผลให้ดีมานด์ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลในจีนอ่อนแอลงมาก
ข้อมูลจากเคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช (Counterpoint Research) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระบุว่า ยอดขาย iPhone ในจีนร่วงลง 11% ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ซึ่งถือเป็นการถดถอยครั้งสำคัญ เนื่องจากประเทศจีนถือเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของแอปเปิ้ล โดยสำนักข่าว CNN ระบุว่า ยอดขายแอปเปิ้ลที่มาจากจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของยอดขายทั้งหมดในปี 2566 เป็นรองแค่ตลาดในอเมริกาเหนือเท่านั้น
ด้านแอปเปิ้ลแก้สถานการณ์โดยประกาศผ่านทางเว็บไซต์ทางการในจีนเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ว่า จะมอบส่วนลดสูงสุดถึง 500 หยวน (70 ดอลลาร์) สำหรับ iPhone 15 ที่วางจำหน่ายในจีนระหว่างวันที่ 18-21 ม.ค. หรือก่อนเทศกาลตรุษจีนไม่นานนัก โดยข้อเสนอนี้เท่ากับส่วนลดราว 5% จากราคาปกติของ iPhone 15 ซึ่งโดยปกติแล้วแอปเปิ้ลจะไม่มีการลดราคา iPhone รุ่นใหม่ล่าสุด เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า ดีมานด์ iPhone ในจีนกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในทำนองเดียวกัน นักวิเคราะห์ของเจฟเฟอรีส์เปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 7 ม.ค. โดยระบุว่า ยอดขายผลิตภัณฑ์ iPhone ของแอปเปิ้ลในจีนปรับตัวลง 30% ในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2567 โดยยอดขายที่ลดลงของแอปเปิ้ลเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ยอดการจัดส่งสมาร์ตโฟนในจีนลดลงในอัตราเลข 2 หลักในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2567 สวนทางกับยอดขายสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ รวมถึงหัวเว่ย ที่ขยายตัวค่อนข้างคงที่ เมื่อเทียบรายปีในช่วงเวลาดังกล่าว
ยอดขายที่ลดลงในจีนเกิดขึ้น แม้แอปเปิ้ลปรับลดราคา iPhone หลายรุ่นบนตลาดออนไลน์รายใหญ่ของจีน เช่น iPhone 15 Pro และ iPhone 15 Pro Max ปรับลดราคาลง 16% บนพินตัวตัว (Pinduoduo) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2567
วิกฤตยอดขาย iPhone 15 เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ Mate 60 Pro ของหัวเว่ย
ยอดขายของแอปเปิ้ลที่ปรับตัวลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากแรงกดดันด้านการแข่งขันจากคู่แข่งในจีน โดยเฉพาะหัวเว่ยที่หวนคืนสู่ตลาดสมาร์ตโฟนระดับไฮเอนด์ โดยจากเดิมที่ได้ส่วนแบ่งตลาดเพียง 11% ในปี 2565 ก็ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 24% ในช่วงไตรมาส 3/2566
หัวเว่ยซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกมีส่วนแบ่งตลาดลดลงและเผชิญปัญหาทางธุรกิจ หลังถูกสหรัฐออกมาตรการคว่ำบาตรหลายครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2562 เพื่อปิดกั้นไม่ให้หัวเว่ยเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญ โดยเฉพาะชิปเซมิคอนดักเตอร์
ต่อมาหัวเว่ยจึงหาทางแก้ลำด้วยการออกแบบชิปของตัวเองขึ้นภายใต้แบรนด์ Kirin ซึ่งผลิตโดยบริษัท TSMC ของไต้หวัน แต่ภายหลังสหรัฐได้ออกกฎระเบียบห้ามไม่ให้ TSMC ผลิตชิปให้กับหัวเว่ย ทำให้หัวเว่ยไม่สามารถแตะต้องเทคโนโลยีที่รองรับ 5G
ทว่าในเดือนส.ค. 2566 หัวเว่ยกลับสร้างความประหลาดใจด้วยการเปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่น Mate 60 Pro ที่ใช้ชิป 7 นาโนเมตรและรองรับเทคโนโลยี 5G ในจีน โดยชิปล่าสุดดังกล่าวผลิตโดยบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (SMIC) ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของจีน ก่อให้เกิดกระแสความกังวลต่อรัฐบาลสหรัฐและก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่าชิปดังกล่าวผลิตขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อหัวเว่ยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญในการผลิตชิปได้
ความก้าวหน้าของสมาร์ตโฟนรุ่น Mate 60 Pro ในปี 2566 ตอกย้ำจุดยืนของหัวเว่ยในฐานะผู้นำของจีนที่ผลักดันการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของตะวันตกและสร้างทางเลือกภายในประเทศ ซึ่งทำให้กลุ่มผู้บริโภคในจีนแห่ซื้อสมาร์ตโฟนรุ่นดังกล่าวกันอย่างล้นหลาม โดยหัวเว่ยสามารถจำหน่าย Mate 60 Pro ได้ถึง 1.6 ล้านเครื่องภายใน 6 สัปดาห์แรกของการเปิดตัว และผลักดันให้รายได้ของหัวเว่ยทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 4/2566 ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อ iPhone ของแอปเปิ้ลที่ครอบงำส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟน
ทางการจีนกีดกัน เศรษฐกิจจีนก็ไม่เป็นใจ
ทั้งนี้ การที่ iPhone เผชิญปัญหาโดนหัวเว่ยกลับมาแย่งส่วนแบ่งตลาดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการกีดกันจากทางการจีนที่มีขึ้นเพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอีกด้วย เช่น เมื่อเดือนก.ย. 2566 ที่เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล (WSJ) รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า จีนได้สั่งเจ้าหน้าที่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลกลาง ตลอดจนหน่วยงานที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนและรัฐวิสาหกิจ ไม่ให้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ iPhone ของแอปเปิ้ลและอุปกรณ์สื่อสารแบรนด์ต่างชาติอื่น ๆ ในการทำงาน หรือพกเข้าสำนักงาน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีขึ้นราว 1 สัปดาห์ก่อนหน้าแอปเปิ้ลเปิดตัว iPhone 15
ต่อมาในเดือนธ.ค. 2566 บริษัทของรัฐบาลจีนและหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งในอย่างน้อย 8 มณฑล ได้ออกคำสั่งพนักงานในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาให้หยุดนำโทรศัพท์ iPhone และอุปกรณ์เคลื่อนที่ของบริษัทต่างชาติไปใช้ในสถานที่ทำงาน แล้วให้หันมาเริ่มใช้อุปกรณ์สื่อสารของแบรนด์จีนแทน ถือเป็นการเร่งรณรงค์ของทางการจีนอย่างโจ่งแจ้งเพื่อให้ชาวจีนเลิกใช้เทคโนโลยีของสหรัฐ
นอกจากนี้ ทางการจีนยังออกมาตรการคุมเข้มแอปสโตร์จนสร้างความยุ่งยากแก่แอปเปิ้ลอีกด้วย โดยวอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ว่า เจ้าหน้าที่ของจีนได้แจ้งกับทางแอปเปิ้ลว่า แอปเปิ้ลจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใหม่อย่างเคร่งครัดในการห้ามเสนอแอปต่างประเทศที่ไม่ได้ลงทะเบียนในแอปสโตร์ของ iPhone ซึ่งทำให้แอปโซเชียลมีเดียต่างชาติ เช่น เอ็กซ์, อินสตาแกรม, เฟซบุ๊ก, วอทส์แอป และยูทูบ มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถใช้งานได้บนแอปสโตร์ของแอปเปิ้ลเวอร์ชันจีนโดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อจำกัดดังกล่าว
ทั้งนี้ หากต้องการให้บริการบนแอปสโตร์ต่อไป ผู้ให้บริการแอปมีเวลาจนถึงเดือนก.ค. 2567 ในการลงทะเบียนกับรัฐบาลจีน ส่งผลให้ในวันเดียวกันนั้นแอปเปิ้ลเริ่มกำหนดให้แอปพลิเคชันใหม่ ๆ ต้องแสดงใบอนุญาตสำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ICP) จากรัฐบาลจีนก่อนให้บริการบนแอปสโตร์ของจีน
แต่ปัญหามีอยู่ว่า เงื่อนไขการได้รับใบอนุญาต ICP คือนักพัฒนาจำเป็นต้องมีบริษัทในจีน หรือทำงานกับบริษัทผู้เผยแพร่ในประเทศ ซึ่งนับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับแอปต่างประเทศจำนวนมาก
นอกจากโดนทางการจีนเล่นงานแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจจีนทั้งจากภาคอสังหาริมทรัพย์และภาวะเงินฝืดก็ทำให้คนจีนหลีกเลี่ยง iPhone ที่มีราคาแพง แล้วหันมาซื้อสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ในจีนที่มีราคาถูกกว่า โดยนักวิเคราะห์ของเจฟเฟอรีส์เปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ว่า ยอดขายของหัวเว่ย, เสียวหมี่ (Xiaomi) และออเนอร์ (Honor) เติบโตแข็งแกร่งระดับสองหลัก สวนทางกับ iPhone ที่โตติดลบ
จีนไม่ชอบ วอลล์สตรีทก็ไม่ปลื้ม
ผลพวงจากยอดขาย iPhone 15 ที่ย่ำแย่ในจีนคือราคาหุ้นแอปเปิ้ลที่ปรับตัวลง โดยตั้งแต่เปิดศักราช 2567 มา หุ้นแอปเปิ้ลร่วงลงแล้ว 1.08% มาอยู่ที่ 183.63 ดอลลาร์/หุ้น (ราคา ณ วันที่ 16 ม.ค.) สวนทางกับหุ้นกลุ่ม FAANG ที่ปรับตัวขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังเสียตำแหน่งบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกให้กับไมโครซอฟท์ซึ่งปิดตลาดเมื่อวานนี้ (16 ม.ค.) ที่มาร์เก็ตแคป 2.89 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ของแอปเปิ้ลลดลงมาอยู่ที่ 2.87 ล้านล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ โบรกเกอร์ทั้งหลายยังพากันปรับลดคำแนะนำลงทุนในหุ้นแอปเปิ้ลอีกด้วย นำโดยบาร์เคลย์สที่ประกาศปรับลดอันดับความน่าลงทุนของหุ้นแอปเปิ้ลสู่ระดับ underweight พร้อมกับปรับลดเป้าหมายราคาหุ้นสู่ระดับ 160 ดอลลาร์ จากเดิมที่ระดับ 161 ดอลลาร์
บาร์เคลย์สระบุในรายงานว่า ยอดขาย iPhone 15 อยู่ในภาวะซบเซาในขณะนี้ โดยเฉพาะในจีน ซึ่งจะบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของยอดขาย iPhone 16 ซึ่งเป็น iPhone รุ่นถัดไป
“เราพบความอ่อนแอในยอดขาย iPhone รวมทั้งยอดขาย Mac, iPad และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ” รายงานระบุ
ขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์เรดเบิร์น แอตแลนติกได้ปรับลดคำแนะนำหุ้นแอปเปิ้ลลงเป็น “ถือ” พร้อมระบุในบันทึกถึงลูกค้าเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ว่า “จีนอาจเป็นตัวฉุดผลการดำเนินงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 67)
Tags: In Focus, iPhone, SCOOP, ปีมังกร, รัฐบาลจีน, แอปเปิ้ล